Links

...

ปูม่วนซื่น! พบผู้นำลาว-ซื้อไฟฟ้า รื้อฟื้นเพื่อนบ้าน ช่วยเงินสร้างรร. เปิดด่านเพิ่มอีก เหลิมมีนัดฮุนเซน, Asia News, Thai , news,




เยือนลาว - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ที่รัฐบาลสปป.ลาวจัดต้อนรับระหว่างเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการ ในฐานะสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ก.ย.
นายกฯปูไปเยือนลาว ต่อทันทีหลังกลับจากรื้อฟื้นสัมพันธ์เขมร เข้าพบประธานประเทศ มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของลาว และเปิดโรงเรียนสานสัมพันธ์ แล้วยังลงนามซื้อไฟฟ้าด้วย เฟซบุ๊กแจงความสำเร็จจากเยือนเขมร เปิดศักราชใหม่สัมพันธไมตรี เตรียมเปิดด่านชายแดนเพิ่ม และสนับสนุนความช่วยเหลือต่อไป ยันทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ชาติ "ฮุนเซน" รับปากช่วยวีระ-ราตรีเต็มที่ นายกฯปูเปิดทำเนียบให้โอวาทนักเรียนทุน 1 อำเภอ 1 ทุน ถึงกับเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอ เมื่อตัวแทนนักเรียนชื่นชม"ทักษิณ" ผู้ริเริ่มโครงการ "มาร์ค"แจงวุ่นรัฐบาลที่แล้วไม่มีวาระซ่อนเร้นกับเขมร

"ปู"เฟซบุ๊กความสำเร็จเยือนเขมร

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ถึงการเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า จากการไปเยือนกัมพูชา นับเป็นการเริ่มศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และความสัมพันธ์นี้จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนา และความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อประชาชนและประโยชน์ของสองประเทศ จะไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมากระทบความสัมพันธ์ในภาพรวม และจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เจซี, เจบีซี, จีบีซี, อาร์บีซี และส่งเสริมให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกันในทุกระดับ

ส่วนเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการเจรจาอย่างเป็นทางการและเปิดเผย หลังจากเว้นว่างจากการเจรจามานาน ซึ่งฝ่ายไทยต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวน การภายในของไทยในการจัดทำกรอบเจรจาดังกล่าวก่อนจะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เห็นพ้องว่าควรใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ อย่าง เจซี และ เจทีซี เพื่อเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่าง กัน โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อประชาชนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เปิดด่านเพิ่ม-สนับสนุนทุนอีก

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายพร้อมผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ บ้านหนองเอี่ยน อ.อรัญประเทศ-สตึงบท เพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งสินค้า ส่วนความร่วมมือด้านการศึกษา ไทยจะเพิ่มความช่วยเหลือด้านวิชาการและให้ทุนการศึกษาแก่กัมพูชา และการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้าน ACMECS Single Visa ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน

"ฮุนเซน"ยันช่วยแน่วีระ-ราตรี

"กรณีคุณวีระ(สมความคิด) และคุณราตรี (พิพัฒนาไพบูรณ์) เนื่องจากรัฐบาลไทยมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่และทุกข์สุขของชาวไทยในกัมพูชา จึงขอความร่วมมือนายกฯ ฮุนเซน พิจารณาขอพระราชทานอภัยโทษของบุคคลทั้งสอง ซึ่งนายกฯ ฮุนเซน ได้แสดงความประสงค์จะให้ความช่วยเหลือ ตามเงื่อนไข และกลไกตามกฎหมายของกัมพูชา แต่จะมีการขออภัยโทษให้แน่นอน" นายกฯ ระบุ

เสริมตร.เข้าเขาวิหารแทนทหาร

ต่อมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการหารือกับสมเด็จ ฮุนเซน นายกฯกัมพูชา เรื่องข้อพิพาทปราสาท พระวิหาร ว่า เรายึดแนวทางคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) และศาล โลก ส่วนการปรับปรุงกำลังทหารตามแนวชายแดนนั้น อยากจะเสริมกำลังตำรวจแทน เพื่อให้คณะกรรมการกลางของจีบีซีมาทำงานร่วมกัน ให้เกิดความสงบในพื้นที่ทั้ง 2 ฝ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเริ่มถอนกำลังทหารเมื่อไหร่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องให้จีบีซีเจรจาก่อน แต่โดยหลักแล้วกัมพูชาเห็นชอบที่จะปรับปรุงกำลังทหารตามแนวชายแดน ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกด้วย ส่วนข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.ก.ม. นั้น ยังไม่มีการพูดถึง แต่ยืนยันไทยต้องปกป้องอธิปไตยของเราเต็มที่

เมื่อถามว่ารัฐบาลคิดว่าพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.ก.ม.เป็นของไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้ยังพูดไม่ได้ การให้ข้อมูลต่างๆ จะมีผลต่อศาลโลกได้ ซึ่งเราจะหารือกัน เพราะมีคณะกรรมการที่ตั้งไว้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อ และต้องมีผู้รู้ด้านกฎหมายช่วยทำงานด้วย ยึดหลักรักษาและปกป้องอธิปไตยของไทย ส่วนที่สมเด็จฮุนเซนยืนยันพื้นที่ทับซ้อนเป็นของกัมพูชานั้น การยืนยันเป็นคนละประเภทกัน เราต้องใช้หลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดต่อสู้คดีตามข้อกฎหมายอย่างเต็มที่

ทุกอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

ส่วนที่กัมพูชาเสนอให้แบ่งผลประโยชน์ด้านพลังงานบริเวณพื้นที่ทับซ้อนนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราจะยึดตามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)เก่า ในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น ต้องให้รมว.ต่างประเทศนำไปหารือในครม.เพื่อเปิดเจรจา ต้องตั้งหลักจากเอ็มโอยู และตั้งคณะกรรมการเข้าไปเจรจาอย่างเปิดเผย ขอย้ำว่าจะทำทุกอย่างอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา

เมื่อถามว่าการเจรจากับกัมพูชามีปัญหาที่จุดไหนถึงตกลงกันยาก นายกฯ กล่าวว่า มีปัญหาการเจรจาในพื้นที่แนวแบ่งด้วย ซึ่งมี 2 เรื่องใหญ่ คือแนวแบ่งที่ยังไม่ลงตัวกัน และการแบ่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ต้องนำเอ็มโอยูมาดูและศึกษาต่อ เมื่อถามว่าจะออกมาในรูปแบ่งผลประโยชน์ 50 ต่อ 50 หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังขอไม่ตอบในจุดนี้ เพราะเป็นเงื่อนไขการเจรจา ขอให้มีคณะกรรมการและเข้าไปเจรจาก่อน ซึ่งจะทำให้เร็วที่สุด โดยให้รมว.ต่างประเทศศึกษาและนำเข้าครม.

เปิดศักราชใหม่ควบแก้ปัญหาเก่า

"จากที่เราคุยกัน ตอนนี้บรรยากาศดีขึ้น กัมพูชาตั้งใจจะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะหลังจากมีเรื่อง การค้าขายต่างๆ ก็หยุดชะงัก ดังนั้นต้องแยกเป็น 2 เรื่อง เรื่องที่มีข้อพิพาทต้องให้คณะกรรมการเจรจา ทั้ง 2 ประเทศต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนไทยต้องทำหน้าที่ตามข้อกฎหมาย เจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนการค้าขาย เราต้องเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันดี เปิดการค้าขายระหว่างกัน อย่างการเจรจาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. เราเห็นด้วยที่จะเปิดช่องทางบริเวณชายแดนแถวสตึงบกใหม่ และจะดูพื้นที่อื่นว่ามีจุดไหนอีกบ้าง โดยเสนอรมว.มหาดไทยของทั้ง 2 ประเทศเป็นเจ้าภาพไปพูดคุยกัน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ต่อข้อถามว่าสมัยก่อนไทยเคยมีบทบาทช่วยเหลือตอนเขมรแตก แต่วันนี้ทำไมเขมรถึงมีบทบาทและอิทธิพลกำหนดทิศทางของไทยได้ โดยเฉพาะด้านการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ วันนี้มีปัญหา 2 ส่วน ที่เราต้องทำงานคือเปิดศักราชใหม่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมาดูปัญหาเก่าว่ามีอะไรบ้าง ถึงนำไปสู่เรื่องใหม่ เพราะวันนี้เรายังคุยปัญหาเก่าไม่ลงตัว แล้วจะนำไปสู่ปัญหาใหม่อีก ก็ไม่จบเสียที

เป็นคนไทยทำเพื่อประเทศ

เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าไทยเป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้เขมรมามีบทบาทนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "แน่นอน ดิฉันเป็นคนไทย ต้องปกป้องและรักษาอธิปไตยของไทย และต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ การทำงานตรงนี้ เราจะทำงานอย่างตรงไปตรงมา และโปร่งใสให้ประชาชนได้รับทราบอยู่แล้ว รวมทั้งจะปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย และการทูตอย่างถูกต้อง"

เมื่อถามว่าสังคมอาจมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามีอะไรพิเศษ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางเข้ากัมพูชา หลังจากนายกฯเพิ่งเดินทางกลับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สื่อทราบอยู่แล้ว ทุกครั้งที่เจรจาก็เจรจาทุกอย่างโดยเปิดเผย ตนไปทำงานในฐานะรัฐบาล ไม่มีอะไรที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไปกัมพูชาจริงหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธว่า ไม่ทราบ

แจงสาเหตุโผทหารล่าช้า

น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์กรณีบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีที่ยังติดขัดไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ว่า เป็นเรื่องอัตรากำลัง ซึ่งเลขาธิการนายกฯแจ้งให้ทราบแล้ว เรื่องนี้ขอให้เลขาธิการนายกฯ ชี้แจงดีกว่า ยืนยันว่าความล่าช้าครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับชื่อโผโยกย้าย แต่เป็นเรื่องของอัตรากำลัง

ยกคณะไปเยือนลาว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการในวันนี้ว่า จะยืนยันในเรื่องที่ไทยจะซื้อไฟฟ้าจากลาว ซึ่งเป็นสัญญาที่กระทรวงพลังงานทำไว้ ไม่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์

ช่วยเพื่อนบ้านหลายโครงการ

ต่อมาเวลา 13.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะ อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง ด้วยเครื่องบินเที่ยวบินพิเศษ ไปยังท่าอากาศยานวัดไต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเยือนลาวอย่างเป็นทางการ โดยมีรมต.เกียรติยศ รมต.รองหัวหน้าห้องว่าการรัฐบาลลาว รองเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของลาว ให้การต้อนรับ

จากนั้นนายกฯและคณะเดินทางต่อไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีลาว ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ตรวจแถวทหารเกียรติยศ หารือข้อราชการกับนายทองสิง ทำมะวง นายกฯลาว โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในลาว จำนวน 2,500,000 บาท และมอบเงินให้โครงการโรงเรียนเพื่อนมิตร ประจำปี 2554 อีก 2 ล้านบาท ก่อนไปที่ทำการสภาแห่งชาติลาว เข้าหารือกับนางปานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ แล้วไปที่สำนักงานประธานประเทศ เยี่ยมคารวะพล.ท.จูมมาลี ไซยะสอน ประธาน ประเทศลาว ร่วมพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์นักรบนิรนาม ก่อนไปสักการะพระธาตุหลวง

ทั้งนี้นายกฯยืนยันความร่วมมือรับซื้อไฟฟ้าจากลาว 7,000 เมกะวัตต์ ตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆบริเวณชายแดน อาทิ การค้าขาย ปัญหายาเสพติด การลักลอบขนสินค้าข้ามแดน พร้อมกับถือโอกาสเชิญนายกฯลาวมาเยือนไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ช่วงค่ำน.ส.ยิ่งลักษณ์ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ผู้นำลาวเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติ ที่โรงแรมลาวพลาซ่า ก่อนเดินทางกลับเวลา 21.50 น.

"ปู"ให้โอวาทน.ร.1อำเภอ1ทุน

ก่อนหน้านั้นเวลา 11.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนนทิกร กาญจนจิตรา เลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) นำนักเรียนทุนตามโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน จำนวน 100 คน เข้ารับโอวาทจากน.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งนายกฯกล่าวให้โอวาทตอนหนึ่ง ว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 มีนักเรียนได้รับทุนไปแล้วกว่าพันคน นักเรียนทุกคนถือเป็นมันสมองและเป็นคนเก่งของประเทศ ซึ่งตนมีความภาคภูมิใจ แม้นักเรียนที่จบจากโครงการนี้จะมีจำนวนไม่มาก แต่พลังที่กลับไปทำงานให้กับประเทศ อำเภอ และท้องถิ่นของตนเอง 1 คน 1 พลังสามารถสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นได้อย่างมาก และถือว่ามีค่าสูงสุด น่าชื่นชม และเป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมให้เยาวชนของชาติมีความแข็งแรงเพื่อที่จะช่วยกันกลับมาพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่เวทีอาเซียนได้

"การลงทุนกับคนใช้เงินไม่มากแต่สามารถต่อเงินได้เยอะ ดิฉันอยากให้นักเรียนทุกคนเป็นตัวแทนรัฐบาลกลับไปทำงานให้กับประเทศ สังคม และสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นตนเอง หากอยากทำงานในภาครัฐเราก็พร้อมเปิดโอกาส แต่ถ้าอยากไปทำงานในภาคเอกชนก็ไม่ห้ามกัน ดิฉันในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และถือเป็นพี่สาวคนหนึ่งที่มาจากเด็กต่างจังหวัดเหมือนกัน ภาคภูมิใจที่ทุกคนตั้งใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ กลับไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง และขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นร.ทุนชื่นชมถึงน้ำตาซึม

ผู้สื่อข่าวข่าวรายงานว่า เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงช่วงนี้เริ่มมีน้ำเสียงสั่นเครือ และน้ำตาคลอเบ้า จากนั้นตัวแทนนักเรียนลุกขึ้นกล่าวขอบคุณ โดยนายสุนทร เมืองมนประเสริฐ นักเรียนทุนจากจ.นครปฐม ได้รับทุนไปศึกษาปริญญาตรีที่ญี่ปุ่น รุ่นที่ 1 ปี 2547 กล่าวตอนหนึ่งว่า พวกตนทุกคนมีความดีใจที่รัฐบาลสนับสนุนโครงการนี้ต่อเนื่อง โดยไม่ลืมเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ บางคนยากจน ขาดโอกาส แต่ยังได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล ในฐานะตัวแทนนักเรียนต้องขอขอบคุณ และยืนยันว่าจะนำโอกาสที่ได้รับครั้งนี้ กลับไปพัฒนาท้องถิ่น ให้สมกับความตั้งใจของโครงการดังกล่าว ตนเป็นนักเรียนรุ่นแรก ปี 2547 ยังจำคำกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณ และพร้อมนำมาปฏิบัติอย่างขึ้นใจ ในประโยคที่ว่า "ให้ไปเรียนมาให้จบ และกลับมาพัฒนาชาติ" คำๆนี้ทุกคนยึดมั่น และจะกลับมาสานต่อให้กับสังคมและประเทศชาติ เพื่อที่การให้ครั้งนี้จะได้ไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายสุนทรกล่าวถึงพ.ต.ท.ทักษิณ และยืนยันจะทำตามคำสอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงกับน้ำตาคลออีกครั้ง และพยายามกั้นน้ำตาไว้ ทั้งนี้โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เริ่มสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ เมื่อปี 2547 แต่ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีอย่างหนักว่านำเงินบาปจากหวยบนดินมาใช้ผิดประเภท

"เหลิม"กระชับต่อฮุนเซน-เตียบัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนบอกว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา จะดีขึ้นคือเข้าใจกันและคุยกันง่ายขึ้น ตนไม่รู้เรื่องต่างประเทศ แต่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ เคยสอนไว้ว่าต้องเจรจา โดยเฉพาะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงไปทะเลาะไม่ได้ เพราะมันถึงกัน เดี๋ยวกระสุนตกตูมตาม เมื่อเจรจาได้ข้อยุติจึงมาให้สัมภาษณ์ ตนจะไปเยี่ยมสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา คาดว่าจะเป็นหลังปิดประชุมสภาสมัยสามัญก่อน เพราะตนมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ พล.อ.เตีย บัน รมว.กลาโหม กัมพูชา โดยจะคุยขอความร่วมมือเรื่องปราบยาเสพติด เพราะตามแนวตะเข็บชายแดนยังมีการเคลื่อนไหวไปมาอยู่ จึงต้องไปขอร้องเขา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สารตั้งต้นบางชนิดลักลอบมาจากกัมพูชา จะดำเนินการอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องไปคุย ใช้การเจรจาเป็นวิธีดีที่สุด ไปขอความร่วมมือ แต่รัฐบาลที่แล้วไปไม่ได้ คุยกับเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่ชอบรมว.ต่างประเทศ แต่ตอนนี้เขาชอบนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว. ต่างประเทศ เพราะเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส

รัฐบาลนี้เปิดเผยไม่ซ้ำรอย"เทือก"

ต่อข้อถามว่าการไปพูดคุยกับพล.อ.เตีย บัน จะถูกโจมตีเหมือนครั้งที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ไปคุยกับผู้นำกัมพูชาจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปเจรจาลับกันหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว ไม่ รัฐบาลนี้เปิดเผย ถามว่า นายสุเทพไปเจรจาอะไรบ้าง แต่ดีแล้วที่เขาเปิดเผยมา เชื่อตน ใครทำอะไรไว้ปิดไม่มิด เหมือนไปทางไกลรู้กำลังม้า นานเวลารู้น้ำใจคน ถ้าคนชั่วไม่มีก็หาคนดีไม่พบ

ส่วนที่กัมพูชาพยายามเจรจาให้ไทยกลับมาเซ็นเอ็มโอยู เพื่อแบ่งประโยชน์น้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า แสดงความเห็นไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ เดี๋ยวจะหาว่าตนรู้ทุกเรื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ และส.ว.สรรหาบางกลุ่ม ยังโจมตีที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ว่าเป็นการพยายามล้วงลูกแทรกแซงศาลและองค์กรอิสระ รองนายกฯ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่มีการแก้กฎหมายล้วงลูกศาล ทำได้ที่ไหน ทำไม่ได้

ทักษิณไม่อยู่ถึงแข่งบอล

ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการไปกัมพูชาของพ.ต.ท. ทักษิณว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปเมื่อใด แต่ยืนยันว่ามาตามคำเชิญของราชบัณฑิตย สถานกัมพูชา ร่วมกับองค์การรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิก หรือแคปดิ บรรยายเรื่องเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลก ร่วมกับบุคคลสำคัญหลายประเทศที่จะมาบรรยาย ทั้งนี้สมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา จะมอบเหรียญเกียรติยศให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งรมว.ต่างประเทศของลาว และตนด้วย ยืนยันว่าไม่มีการเจรจาเรื่องน้ำมัน หรือผลประโยชน์ส่วนตัวตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา ไม่มีเรื่องใดต้องตื่นตระหนก และมีกำหนดอยู่ในกัมพูชา 1-2 วันเท่านั้น จะเดินทางออก ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ละแวกนี้ต่อหรือกลับดูไบ แต่ที่แน่ๆคือพ.ต.ท.ทักษิณไม่อยู่จนถึงวันแข่งฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างส.ส.เพื่อไทย แกนนำเสื้อแดง กับครม.กัมพูชา

นายนพดล กล่าวอีกว่า สำหรับเหรียญเกียรติยศที่กัมพูชาจะมอบให้นั้น แสดงถึงการเป็นผู้รับใช้มนุษยชาติของคนที่เกี่ยวข้องว่ามีผลอย่างไรที่ทำให้เกิดสันติภาพในโลก รวมถึงผลงานที่เคยทำในอดีตและปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยอยู่ในฐานะสมาชิกของแคปดิด้วย

ส่วนกรณีการช่วย 2 คนไทยที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปเยือนกัมพูชา และถือโอกาสพูดเรื่องนี้กับสมเด็จฮุนเซนนั้น ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากช่วยคนไทยอยู่แล้ว ทั้งสองก็มีความสัมพันธ์ของทั้งที่ดีต่อกัน เป็นเพื่อน เป็นมิตรแท้ในยามยาก เพราะเคยทำงานร่วมกันมานานกว่า 5 ปี ความสัมพันธ์ที่ดีนี้ไม่ใช่เพราะประโยชน์ต่างตอบแทนอย่างที่ถูกกล่าวหา ข้อห่วงใยของฝ่ายค้านเราน้อมรับ แต่ไม่อยากให้กล่าวหา สร้างความเคลือบแคลงสงสัย

"มาร์ค"แจงวุ่นไม่มีวาระซ่อนเร้น

ที่จ.สิงห์บุรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ พบกับสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา โดยมีรายงานว่ากัมพูชายินดีเอากรอบเอ็มโอยู 2544 มาใช้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะลว่า ขอเรียกร้องรัฐบาลชี้แจงให้ชัดว่าจะมีแนวทางอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมามีแต่ฝ่ายกัมพูชาที่ออกมาแสดงท่าทีฝ่ายเดียว ทั้งการถอนทหาร ความเห็นต่อศาลโลก รวมทั้งการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ดังนั้น รัฐบาลควรยืนยันกรอบการเจรจา ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและทำสนธิสัญญา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่มีวาระซ่อนเร้น เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงกรอบเอ็มโอยู 2544 แต่ยังดำเนินการไม่เสร็จ เพราะอยู่ในขั้นตอนรายละเอียดทางเทคนิค และไม่เห็นด้วยกับการลากเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นไปตามสนธิสัญญา เราจึงไม่มีวาระซ่อนเร้น ถ้ามีก็คงไม่แขวนไว้ก่อน ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลนี้ เพราะมีข้อมูลหลายทางที่ระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมดำเนินการทางธุรกิจ ตรงนี้ต่างหากที่ควรตรวจสอบ ดังนั้นการพูดถึงผลประโยชน์กับรัฐบาลเก่า จึงเป็นเพียงการเบี่ยงประเด็น เพราะถ้ามีจริง เราคงรีบทำ ไม่แขวนไว้อย่างนี้

ยังข้องใจตั้งคอ.นธ.

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ซึ่งร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ บอกว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย สามารถกระทำได้ว่า ร.ต.อ.เฉลิมพูดเฉพาะแง่มุมทางกฎหมาย อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะสังคมถามถึงความจำเป็นในการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เนื่อง จากเรามีองค์กรที่ทำงานด้านปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่มีรัฐธรรมนูญรับรองอยู่แล้ว จึงอยากถามว่าเหตุใดจึงตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาอีก และรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารเข้าไปก้าวล่วงองค์กร ต่างๆ มากเกินไป

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่าการเดินหน้าองค์กรนี้ จะทำให้เกิดกระแสกดดันสังคมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะกดดันหรือไม่ ขึ้นกับข้อเสนอที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร จะเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารจนเกินความพอดีหรือไม่ ตรงนี้คณะกรรมการต้องอธิบายให้ได้ว่าบทบาทคืออะไร เมื่อถามว่าการตั้งองค์กรนี้อาจนำไปสู่การตั้งธงเพื่อแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลคงลืมไปแล้วว่าเคยบอกว่าจะไม่ตั้งธงแก้รัฐธรรมนูญ

หลวงปู่จรัญทายคัมแบ๊กนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์พร้อมผู้บริหารพรรคไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม ที่จ.สิงห์บุรี ช่วงเวลา 09.30 น. เข้านมัสการพระธรรมสิงหบุราจารย์(หลวงปู่จรัญ ฐิตธัมโม) ที่วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี ระหว่างการสนทนา หลวงพ่อจรัญกล่าวกับนายอภิสิทธิ์ว่า "เคยอ่านคำทำนายของหลวงพ่อฤาษีลิงดำกันหรือยัง รู้ใช่ไหมว่าที่ท่านได้เคยทำนายว่า ถ้าประเทศไทยมีนายกฯเป็นผู้หญิง จะทำให้บ้านเมืองเสียหาย มีปัญหา จึงขอให้นายอภิสิทธิ์รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี เพราะจะได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหนึ่งแน่ ให้ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านไว้"

ฎีกาทักษิณเป็นพระราชอำนาจ

ที่รัฐสภา นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว. ศรีสะเกษ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จะถามความเห็นเพื่อรวบรวมรายชื่อส.ว. ถึงกระบวนการการยื่นฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่เข้าข่ายแนวทางการเสนอความคิดเห็นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ว่า ฎีกานี้เป็นขั้นตอนการยื่นของประชาชน น่าจะให้ฝ่ายที่รับผิดชอบคือสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เป็นผู้พิจารณาความถูกต้องเหมาะสม ก่อนเสนอต่อพระองค์ให้มีดุลพินิจตัดสิน ซึ่งเป็นผู้มีพระราชอำนาจเด็ดขาด ดังนั้นจึงควรปล่อยเป็นไปตามกระบวนการดีกว่า เพราะ ส.ว.ทำได้เพียงแค่เสนอความคิดเห็นเท่านั้น

นายจิตติพจน์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่าเป็น การดึงมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และ อาจเป็นการผลักพระราชภาระแก่พระองค์นั้น คงไม่ใช่ หากมองในทางกลับกันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประชาชนให้ความเคารพเทิดทูนพระองค์ท่าน และทรงเป็นที่พึ่งของปวงชน เนื่องจากในอดีตหากประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องใดๆ ก็จะยื่นถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง และจะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นว่าการยื่นฎีกาถือเป็นช่องทางตรงในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร

นายจิตติพจน์ กล่าวต่อว่า หากมีการถามความเห็นมายังตน โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยและขอค้านการรวบรวมรายชื่อส.ว. เพราะ ถ้าจะทำควรทำตั้งแต่ขณะที่มีการยื่นเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรม สมัยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรมว.ยุติธรรม แล้ว เพราะหากยื่นไปในตอนนี้ก็จะมีแต่ความล่าช้า แต่ก็เป็นสิทธิของทางคณะกรรมการที่จะทำเรื่องเสนอต่อประธานวุฒิสภาได้ จึงไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีจะดีที่สุด

"ขุนค้อน"ยกชุดใหญ่ไปเขมร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า กลางสัปดาห์ ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธาน สภาผู้แทนฯ ประชุมเตรียมความพร้อมไปประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน(เอไอพีเอ) ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันที่ 19-24 ก.ย. เพื่อพิจารณารับรองพม่าและบางประเทศที่มีเขตแดนติดกับรัสเซียเข้าสู่สมาคมอาเซียน

การไปประชุมที่กัมพูชาครั้งนี้มีทั้งหมด 35 คน ประกอบส.ส.และส.ว.ที่เป็นคณะกรรมการสมัชชาฯ 13 คน คณะทำงานประธานรัฐสภาและผู้ติดตาม โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อนายอดิศร เพียงเกษ อดีตส.ส.ไทยรักไทย แกนนำนปช. ร่วมเดินทางไปด้วย และกลุ่มผู้แทนคณะรัฐสภาไทย 15 คน ประกอบด้วย ส.ส. เพื่อไทย 10 คน เจ้าหน้าที่ติดตาม 5 คน ซึ่งจะไปวันที่ 18 ก.ย. เวลา 18.00 น.ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา จะไปล่วงหน้าก่อนในวันที่ 16 ก.ย. ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าวพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางมากัมพูชาเช่นกัน

สำหรับรายชื่อส.ส.เพื่อไทยที่จะไปครั้งนี้ ประกอบด้วย น.ส.อรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี น.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน นายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ส.ส.ฉะเชิงเทรา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.แพร่ นายทองดี มนิสสาร ส.ส.อุดรธานี นางรพิพันธุ์ พงศ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กล่าวว่า คณะมีส.ส.ทุกพรรคและส.ว. พร้อมเจ้าหน้าที่ 30 คน การไปไม่มีอะไรแอบแฝง



บิ๊กตุ้ยย้ำโผทหารเรียบร้อย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 ก.ย.ที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี พล.อ. ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. ร่วมพิธีอำลาตำแหน่งชีวิตราชการและเชิดชูเกียรติของเหล่าทหารม้า โดยพล.อ.ทรงกิตตินั่งรถม้ามีหมู่ม้านำขบวนเข้าไปยังลานตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวระหว่างร่วมพิธีว่า การทำงานอาจทะเลาะกันบ้าง แต่พ้นปัญหาก็เดินหน้าต่อไปเพื่อประเทศ ตนไม่อยากฝากอะไร เพราะมั่นใจในผู้บังคับบัญชา ทุกคนมียุทธศาสตร์แนวทางของกองทัพ ไม่ห่วงสถานการณ์บ้านเมืองเพราะเป็นหน้าที่ของคน 66 ล้านคนที่ต้องพาประเทศชาติก้าวหน้าต่อไป

จากนั้นพล.อ.ทรงกิตติ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพลรอบใหม่ว่า เรื่องโผทหารผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการปรับย้ายฯไปแล้ว หากมีการพิจารณาในบางตำแหน่งเพิ่มเติม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม สามารถเชิญคณะกรรมการมาประชุมใหม่ได้ แต่ยังไม่ได้พูดคุยกับรมว.กลาโหม และยังไม่รู้ว่าโผมีปัญหาตรงไหน ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้หากครม.ไม่อนุมัติตำแหน่งประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม คงไม่ส่งผลกระทบเพราะมีไม่กี่ตำแหน่งที่อยู่ระดับเดียวกัน ส่วนที่กลุ่มนปช.คัดค้านการแต่งตั้งทหารที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามคนเสื้อแดงนั้น ยังไม่ทราบ แต่การพิจารณาปรับย้ายทหาร ทำตามพ.ร.บ.การจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ดูจากหลาย ปัจจัย และความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากข้างนอกที่เข้ามามีผลต่อการโยกย้ายหรือไม่ พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวว่า ไม่มี เพราะผู้บังคับบัญชาทุกคนมีวิจารณญาณ ไม่มีคณะกรรมการคนใดอยากปรับย้ายหรือแต่งตั้งใครโดยไม่เป็นธรรม เรามีหลักในการทำงาน อย่ากังวลใจ ขณะนี้สถานการณ์ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง



สมชัยชี้จตุพรไม่สิ้นสภาพส.ส.

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่สำนักงาน กกต. นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการการไต่สวนพิจารณากรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยว่า เป็นการตั้งประเด็นเพื่อดูว่าถ้าจะส่งให้ประธานสภา ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 91 นั้น กกต.จะต้องชี้ว่านายจตุพรสิ้นสุดความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หรือไม่ ด้วยเหตุที่ต้องคุมขังโดยหมายของศาลและเป็นเหตุให้ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อความรอบคอบก่อนส่งให้ประธานสภา ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

นายสมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับความเห็นตนที่ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมานั้น เห็นว่าเราควรต้องดูในเรื่องของการส่งเรื่องไปยังประธานสภา ซึ่งต้องเป็นประเด็นตามมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสิ้นสุดของสภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ไม่ใช่พิจารณาตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 8, 19, 20 เท่านั้น เพราะพ.ร.บ.พรรคการเมืองเป็นการชี้เรื่องของความเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น ดังนั้น ความเห็นของตนถ้าดูตามรัฐธรรมนูญ 106 แล้ว นายจตุพรไม่น่าจะสิ้นสภาพความเป็นส.ส. แต่เมื่อคณะกรรมการไต่สวนสอบมาแล้วนำมาเสนอเราก็ต้องดูข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอีกครั้ง ก่อนจะลงมติว่าจะส่งกรณีนายจตุพรให้ประธานรัฐสภา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความสิ้นสุดความเป็นส.ส.หรือไม่



ก.พ.ค.ยกคำร้องเพิกถอนปลัดมท.

วันที่ 16 ก.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายจาดุร อภิชาตบุตร นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และนายปรีชา บุตรศรี ผู้ตรวจราชการมหาดไทย ร้องทุกข์กรณีคับข้องใจในการปฏิบัติหน้าที่ของรมว.มหาดไทย ในการเสนอชื่อนายวิเชียร ชวลิต เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยเห็นว่าใช้ดุลพินิจโดย มิชอบ ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) ให้มีคำวินิจฉัยให้รมว.มหาดไทยเสนอครม.ทบทวน และเพิกถอนมติครม.ที่อนุมัติแต่งตั้งนายวิเชียร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ก.พ.ค.แจ้งกระทรวงมหาดไทยทราบว่า ได้พิจารณาคำร้องทุกข์และข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว เห็นว่าการที่รมว.มหาดไทย พิจารณาเสนอชื่อนายวิเชียร ให้ครม.อนุมัติแต่งตั้ง สอดคล้องและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และแนวปฏิบัติ อันเป็นสาระสำคัญตามที่ก.พ.กำหนด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำวินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม



จัดเลือกตั้งซ่อมก.ต.4ตำแหน่ง

วันที่ 16 ก.ย. ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมเตรียมจัดเลือกตั้งซ่อมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) รวม 4 ตำแหน่ง ในชั้นศาลฎีกา 1 ตำแหน่ง แทนที่นายมนตรี ยอดปัญญา รองประธานศาลฎีกา ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นประธานก.ต.โดยตำแหน่ง ในชั้นศาลอุทธรณ์ 1 ตำแหน่ง แทนที่นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ ที่ขึ้นเป็นประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา และในชั้นศาลชั้นต้นอีก 2 ตำแหน่ง แทนที่นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 ที่ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 และนายธนรัตน์ ทั่งทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ที่ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

นายสราวุธ กล่าวว่า จากนี้สำนักงานยุติธรรมจะสอบถามผู้พิพากษาที่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นก.ต. เพื่อจะได้ทราบว่ามีผู้พิพากษาประสงค์ได้รับเลือกตั้งในแต่ละชั้นศาลจำนวนเท่าใด ใครบ้าง เพื่อให้ผู้ลงคะแนนทราบ แต่ไม่สามารถหาเสียงได้ ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเป็นผู้พิพากษาทั่วประเทศ 4,000 คน มีสิทธิ์ลงคะแนนได้เฉพาะในชั้นศาลตนเองเท่านั้น โดยศาลสำนักงานศาลยุติธรรมจะจัดส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งให้ผู้ พิพากษาทั่วประเทศในวันที่ 7 ต.ค. และกำหนดให้ส่งบัตรลงคะแนนกลับมาที่สำนักงานศาลยุติธรรมในวันที่ 26 ต.ค. และนับผลคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 27 ต.ค.นี้

0 comments:

Post a Comment

Blog Archive

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Grants For Single Moms