ค้านตั้ง - นายกลิ่น เทียมมิตร ญาตินายวสันต์ ภู่ทอง เหยื่อที่ถูกยิงในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.2553 พร้อมญาติผู้เสียชีวิต 91 ศพยื่นหนังสือต่อรมว.กลาโหม คัดค้านการแต่งตั้งนายทหารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ให้ได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อวันที่ 16 ก.ย. |
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ก.ย. ที่ทำ เนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการ ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ว่า มีเรื่องพิจารณาอยู่ 2-3 วาระที่ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนไปแล้วและอยากได้รับอนุมัติให้เป็นคดีพิเศษจะได้มีอำนาจเต็มที่ ส่วนคดีสำคัญๆ ค้างเก่าตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนที่ยังไม่ออกมานั้น ตนคิดเช่นกันว่าเมื่อดีเอสไอรับเรื่องไว้แล้วควรพิจารณาให้เสร็จ เพราะดีเอสไอต้องทำคดีพิเศษจริงๆ และเมื่อ 2-3 วันมานี้ตนติดต่อกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กรณีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 รวม 13 ศพ ที่มีข้อสงสัยเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานหรือไม่ แต่ดีเอสไอเอาไปเก็บเอาไว้ ทั้งๆ ที่ตามหลักการพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจชันสูตรพลิกศพ ต้องเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่พบศพ และดีเอสไอไม่มีอำนาจชันสูตรพลิกศพ แต่มีอำนาจสอบสวนคดีทั้งหมดได้ถ้ารับเป็นคดีพิเศษ
"อธิบดีดีเอสไอจึงบอกว่าสัปดาห์หน้าจะส่งเรื่อง 13 ศพ กลับมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ผมบอกว่ายุคผมมารับผิดชอบหมด ทำอะไรตรงไปตรงมา ไม่ต้องมาเอาใจรัฐบาลหรือเอาใจผม แต่อะไรที่บทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้ต้องทำตามนั้น ท่านรับปากว่าจะส่งเรื่องกลับมาให้พนักงานสอบสวนของสน.พื้นที่ที่พบศพ" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าคดี 13 ศพดังกล่าวรวมถึงกรณีพบศพในวัดปทุมวนารามด้วยใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นศพจากเหตุ การณ์ที่ผ่านมา แต่ตนไม่ทราบรายละเอียด เพราะเมื่อครั้งที่แล้วอธิบดีดีเอสไอนำเรื่องนี้มาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ตนเป็นคนบอกให้ถอนเรื่องไป เพราะดีเอสไอไม่มีอำนาจชันสูตรพลิกศพ แต่เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ เรื่องจึงค้างอยู่นานในรัฐบาลชุดก่อน แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มี ตรงไปตรงมา ตามกฎหมายดีเอสไอสอบสวนได้ แต่เมื่อมีการตายโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานทำให้ตายก็ต้องชันสูตรพลิกศพให้ศาลไต่สวน โดยคณะกรรมการไต่สวนเบื้องต้นต้องมีอัยการร่วมด้วย
เมื่อถามว่า ยังมีคดีเกี่ยวกับคนเสื้อแดงคล้ายกับคดี 13 ศพที่จะให้ย้อนกลับไปให้บช.น.ทำอีกหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม ตอบว่า ขณะนี้มี 13 ศพ 13 เรื่อง เมื่อถามต่อว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า ต้องหัดลืมเสียบ้าง ถ้าจะไปเอาเป็นเอาตาย บ้านเมืองเดินไม่ได้ แต่หลักกฎหมายมีอยู่ต้องทำให้ถูกต้อง รวมทั้งคดียิงนักข่าวอิตาลีและช่างภาพญี่ปุ่นต้องดำเนินการเหมือนกันทั้งหมด ทำเป็นระบบ ต้องไปดูว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสน.ท้องที่ไหน ที่ผ่านมาเอาไปเก็บไว้ไม่ได้ แม้ไม่ถึงกับหมก แต่เอาไปซ่อนไว้ พอดีตนหาเจอต้องทำให้ถูกต้อง
ต่อข้อถามว่า กำหนดเวลาหรือไม่ว่าคดี 13 ศพจะต้องแล้วเสร็จเมื่อไหร่ รองนายกฯ กล่าวว่า กฎหมายมีอยู่แล้วว่าถ้าทำไม่เสร็จภายใน 30 วันก็ต่ออีก 30 วัน การฟ้องคดีถ้าชันสูตรพลิกศพไม่เสร็จก็ฟ้องไม่ได้ แต่ไม่ชันสูตรเลยฟ้องได้มันมีเงื่อนไขอยู่ ซึ่งการดำเนินการที่ตนพูดจะรวมถึงคดีลอบยิงพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ต้องดำเนินการเหมือนกันหมด คือใครไม่ได้ทำอะไรผิดไว้ก็ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อถามว่า หากพบการบิดเบือนข้อมูลจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลนี้จะดำเนินการอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม ตอบว่า เร็วไปที่จะพูด ให้เขาชันสูตรพลิกศพก่อน
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีร.ต.อ. เฉลิม สั่งให้ทบทวนสำนวนคดีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 13 ศพ ว่า วันจันทร์ที่ 19 ก.ย.นี้ ดีเอสไอจะนำสำนวนการเสียชีวิตทั้ง 13 ศพส่งกลับไปให้พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตำรวจท้องที่เกิดเหตุไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ในชั้นสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิต 89 ศพ ดีเอสไอพบหลักฐานพอสมควร ว่าทหารอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต 13 ศพ จึงส่งสำนวนให้ตำรวจท้องที่ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตหรือทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ แต่ทางบช.น.สอบสวนแล้วเห็นต่างจากดีเอสไอ โดยสรุปสำนวนว่าไม่มีทหารคนใดอ้างว่ามีการเสียชีวิตในจุดใด หรือรายใดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร จึงส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอดำเนินการต่อ
นายธาริต กล่าวต่อว่า หลังจากรับมอบสำนวนคดี 13 ศพคืนจากบช.น.แล้ว พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ประชุมหารือร่วมกับพนักงานอัยการอีกหลายครั้ง กระทั่งได้ข้อยุติว่าในสำนวนการเสียชีวิต 13 ศพ มีการกล่าวอ้างของทหารว่าเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ คำอ้างตามพฤติการณ์อาจถือเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นตามขั้นตอนเมื่อมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจะต้องส่งสำนวนกลับไปให้ตำรวจเพื่อสรุปสำนวนและส่งให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชี้ขาดต่อไป ดังนั้นดีเอสไอจะส่งสำนวนคดี 13 ศพนี้กลับไปทำสำนวนชันสูตรพลิกศพใหม่อีกครั้ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ชาวญี่ปุ่นช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชา การสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจเคยให้ความเห็นว่านายฮิโรยูกิถูกยิงด้วยกระสุนปืนอาก้า ซึ่งไม่ใช่อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่ทหาร ไปให้ทางบช.น.พิจารณาสำนวนอีกครั้งด้วย
เวลา 11.30 น. ที่กระทรวงกลาโหม นาย กลิ่น เทียมมิตร อายุ 50 ปี ญาตินายวสันต์ ภู่ทอง ซึ่งเสียชีวิตขณะร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง-นปช. บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา สี่แยกคอกวัว พร้อมญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุ การณ์การสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิป ไตย เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 และ 19 พ.ค. 2553 ประมาณ 20 คนเดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว. กลาโหม เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมผ่านทางพ.อ.หญิงสุริยา สุวรรณประสิทธิ์ หัว หน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กระทรวงกลาโหม
นายกลิ่น ระบุว่า การเดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้เพื่อต้องการคัดค้านการแต่งตั้งนายทหารบางนายที่ปราบปรามประชาชนในเหตุสลายชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 และทนไม่ได้ที่ทหารซึ่งปราบประชาชนบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ หนำซ้ำยังได้ดิบได้ดี
เวลา 11.45 น. ที่กองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ดูแลงานด้านความมั่นคง เปิดเผยถึงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยกรณีกลุ่มนปช. ประกาศนัดรวมตัวและจัดกิจกรรม ครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร และครบรอบ 15 เดือน เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ว่า เบื้องต้นทางบช.น. ประสานไปยังแกนนำคนเสื้อแดงแล้ว คาดว่าจะมีประชา ชนเข้าร่วมกิจกรรมราว 10,000 คน โดยตำรวจได้กำชับถึงการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมต่างๆ หากพบการกระทำผิดจะมีบทลงโทษตามกฎหมายทันที
"บช.น. วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น. 1, 2, 3 และ 6 รวม 1,300 นาย ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย โดยจะเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 17 ก.ย." พล.ต.ต.กรีรินทร์ กล่าว
วันเดียวกัน นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เผยแพร่ข้อเสนอแนะของคอป. ที่ส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยขอให้รัฐบาลชุดใหม่นำข้อเสนอแนะที่ผ่านมาร่วมพิจารณาและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างบรรยากาศของความปรองดองตามที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์แถลงเป็นนโยบายเอาไว้
สำหรับข้อเสนอแนะของคอป. ดังกล่าว มี 7 ข้อ ประกอบด้วย 1. รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งด้วยการให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเท่าเทียม
2. ขอให้รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ ไม่ให้กระทบกับบรรยากาศของความปรองดอง โดยเฉพาะรัฐบาลเองแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งของชัยชนะมาจากการประกาศนโยบายสนับสนุนการปรองดอง ต้องวาง ตัวเป็นกลางในสายตาของทุกฝ่าย
3. เห็นควรพิจารณาดำเนินคดีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 คดีหมิ่นเบื้องสูง คดีกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องตรวจสอบการแจ้งข้อหาให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินควร และควรสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย โดยพนักงานสอบสวน อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหา มีเหตุหลบหนี ทำลายพยานหลักฐาน หรือเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ หากไม่มีเหตุดังกล่าวควรมีการยืนยันเพื่อให้สิทธิได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่หากไม่ได้รับการปล่อยตัวรัฐบาลก็ควร จัดสถานที่ในการควบคุมอื่นที่เหมาะสมที่ไม่ใช่เรือนจำปกติ
ข้อเสนอแนะของคอป.ระบุต่อไปว่า 4. เห็นควรให้ชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยต้องมีมาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติดกับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานปกติ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเยียวยาไม่ควรจำกัดแค่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงเม.ย.-พ.ค.53 แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 โดยให้รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวล ชน ภาคเอกชน โดยการเยียวยาไม่ควรมีเฉพาะตัวเงินแต่รวมถึงการให้โอกาสในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีองค์กรเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์ กลางประสานงานความช่วยเหลือด้านงบประมาณเยียวยาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
5. ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากการชุมนุม ด้วยการเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวน การยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหารุนแรงเกินควร ปรับบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังและจำเลยเพื่อเยียวยากลุ่มที่ตกสำรวจ พร้อมจ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวจำเลยที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว
6. คอป.มีความกังวลต่อสถานการณ์กระทำผิดคดีหมิ่นเบื้องสูงและการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคดีหมิ่นเบื้องสูงต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี ทุกฝ่ายต้องยุติการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี โดยยึดประโยชน์สูงสุดในการปกป้องสถาบัน และขอให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินคดีที่นำประเด็นกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ "ล้มเจ้า" ซึ่งอาจมีการตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนเกินไป และอาจส่งผลต่อความปรองดองในชาติ
7. รัฐบาลควรส่งเสริมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง
ที่จ.มหาสารคาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางรังสิมา เจริญศิริ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท นายไชยวัฒน์ ติณรัตน์ นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ ส.ส. มหาสารคาม พร้อมนายนิพนธ์ ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ นายวราวงษ์ พันธุ์ศิลา นายฉลาด ขามช่วง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) และนายทวิธ กงเพชร นักวิชาการสาธารณสุข 7 จังหวัดหนองคาย เดินทางมายังศาลจังหวัดมหาสารคาม เพื่อนำเอก สารและหลักทรัพย์มอบให้นายเบญจรัตน์ มีเพียร และนายปรีชา งามเสน่ห์ ทีมทนาย ความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) และนายอดิศร วัฒนบุตร ประธานคนเสื้อแดงมหาสารคาม ใช้ เป็นหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวแนวร่วมนปช. 9 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดมหาสารคามชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ หลังศาลจังหวัดมหาสารคาม ตัดสินจำคุกผู้ต้องขังทั้งหมดคนละ 5 ปี 8 เดือน เมื่อ 30 ธ.ค. 2553 ในข้อหาวางเพลิง-ตระเตรียมการวางเพลิง เหตุเกิดวันที่ 19 พ.ค. 2553
0 comments:
Post a Comment