เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายกชพงษ์ มหายศนันทน์ เจ้าของบริษัท เคซีพี แอสโซซิเอท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรับซ่อมและ ดูแลยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์ของกองทัพ เข้าร้องเรียนกับ "ข่าวสด" กรณีถูกยกเลิกโครงการซ่อมปรับปรุงเครื่องควบคุมการยิงของรถถัง (Fire Control System Of Tank) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องปี 2552-2554 และกองทัพก็ตั้งงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทซ่อมอุปกรณ์ดังกล่าวได้เพียงปีแรก แต่พอปีที่ 2 หรือพ.ศ.2553 กลับถูกระงับโครง การ จนต้องเข้าร้องเรียนต่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กลาโหม
นายกชพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ตรวจสอบและเซ็นอนุมัติให้ซ่อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นล็อตที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. แต่เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา หรือหลังเปลี่ยนรัฐบาลไม่นาน ฝ่ายส่งกำลังบำรุงทหารแจ้งยกเลิกโครงการซ่อมทั้งหมด อ้างว่าต้องการซื้อของใหม่มาติดตั้งแทน ซึ่งหากจะติดตั้งกับรถถังทุกคัน จะต้องใช้งบรวมประมาณ 4.6 พันล้านบาทเศษ และต้องสำรองอะไหล่กับ ซื้อเครื่องมือทดสอบอีกประมาณ 1.4 พันล้านบาท ในขณะที่ราคาซ่อมทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาทเศษ
นายกชพงษ์ เล่าความเป็นมาของโครงการซ่อมปรับปรุงเครื่องควบคุมการยิงของรถถัง ว่า เมืองไทยมีรถถังประจำการ 389 คัน แบ่งเป็น 4 รุ่นคือ เอ็ม48 เอ5, เอ็ม60 เอ1, เอ็ม60 เอ3 และรถถังเบา 32 หรือ "สติงเรย์" เมื่อซื้อรถถังมาแล้วก็ต้องซื้อครื่องควบคุมการยิงแยกต่างหากมาติดตั้ง ซึ่งเป็นอุปกรณ์เล็งและกะระยะเป้าหมายด้วยเลเซอร์ให้มีความแม่นยำ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2530 แต่เมื่อใช้ไปได้สักระยะ เครื่องควบคุมการยิงชำรุด เมื่อกองทัพแจ้งไปยังบริษัทผู้จำหน่ายจากประเทศอิสราเอล ก็ไม่ส่งช่างมาซ่อม และไม่ขายอะไหล่ให้ด้วย อ้างว่าตกรุ่นไปแล้ว แต่เสนอให้ซื้อของใหม่แทนซึ่งเป็นเงินหลายพันล้านบาท แต่กองทัพยังไม่มีงบประมาณจึงทิ้งให้ชำรุดอยู่แบบนั้น
"จนปี 2540 กรมสรรพาวุธติดต่อมาที่ผม เพราะเป็นบริษัทที่ทำงานด้านซ่อมบำรุงเครื่องจักร และอุปกรณ์ขนาดใหญ่ให้กับเอกชนและราชการมาตั้งแต่ปี 2532 เพื่อให้มาดูว่าจะสามารถทำอย่างไรกับอุปกรณ์ตัวนี้ได้ ผมมาดูแล้วคิดว่าน่าจะซ่อมแซมได้ จึงตั้งบริษัทเคซีพี แอสโซซิเอท ขึ้นมา เพื่อบำรุงรักษาซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กองทัพ จากนั้นประสานกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก่อนไปลงตัวที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ร่วมกันคิดค้นพัฒนาและหาอะไหล่อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ใช้เวลาหลายปีจึงสำเร็จ" นายกชพงษ์ กล่าว และว่า เราถือว่าเป็นบริษัทแรกของคนไทยที่ทำสำเร็จ และตอนนี้ก็เป็นบริษัทไทยบริษัทเดียวด้วย
วิศวกรเจ้าของบริษัทรับซ่อมยุทโธปกรณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อทดสอบทางเทคนิคเรียบร้อยแล้ว จึงแจ้งไปทางกองทัพว่าอุปกรณ์ควบคุมการยิงของรถถังสามารถซ่อมแซมได้ และใช้งานได้เหมือนของใหม่ จนในปี 2551 กรมสรรพาวุธทหารบก ประกาศเชิญชวนบริษัททั่วโลกมาทดลองซ่อมปรับปรุงรถถังต้นแบบ 3 รุ่น ซึ่งบริษัทเคซีพีฯ ก็เข้าร่วมและผ่านการคัดเลือก เพราะสามารถซ่อมได้จริงและเสนอราคาซ่อมต่ำสุด จากนั้นก็ทดลองซ่อมรถถังชนิดเอ็ม48 เอ5 และนำไปทดสอบเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2552 ที่สนามทดสอบยิงปืนใหญ่ รถถัง ศูนย์กลางทหารม้า จ.สระบุรี มีพล.ท. จักรรัตน์ ธาราพิทักษ์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก พร้อมด้วยนายทหารระดับสูง และคณะกรรมการของทบ. ร่วมชมด้วย
"การทดสอบปรากฏว่าระยะยิง 1,200 -1,800 เมตร และยิงกลางคืนในระยะ 1,200 เมตร เข้าเป้าอย่างแม่นยำ มีการประเมินจากทหารประจำรถถังซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการ ยืนยันว่าทุกอย่างสมบูรณ์เหมือนของใหม่ กองทัพจึงตั้งงบประมาณเพื่อซ่อมแซมรถถังทั้ง 4 รุ่น โดยให้ซ่อมจำนวน 70-75% ของรถถัง ที่ประจำการอยู่ เป็นโครงการละ 3 ปี โดยโครงการแรกเริ่มปี 2552-2554 จากนั้นก็เป็นโครงการระหว่างปี 2554-2556" นายกชพงษ์ กล่าว
นายกชพงษ์ กล่าวอีกว่า ปี 2552 เซ็นสัญญาซ่อมรถถังชนิดเอ็ม48 เอ5 จำนวน 21 คัน ราคาคันละ 1,947,6200 บาท วงเงิน 40.9 ล้านบาทเศษ ปี 2553 ซ่อมเครื่องยิงรถถังเบา หรือสติงเรย์ รวม 36 คัน ราคาคันละ 5,542,000 บาท วงเงินประมาณ 190 ล้านบาท โดยสติงเรย์ที่แพงสุดเพราะมีระบบ ซีมูเรเตอร์ หรือเครื่องจำลองฝึกยิงแบบเสมือนจริง ปีเดียวกันก็ทำสัญญาซ่อมรุ่นเอ็ม60 เอ1 อีก 8 คัน คันละ 3,770,000 บาท วงเงิน 30.1 ล้านบาทเศษ ซึ่งทั้งหมดเราให้ทหารมาทดสอบจนพอใจก่อนส่งมอบไปเรียบร้อยแล้ว
นายกชพงษ์ กล่าวว่า รถถังที่บริษัทซ่อมให้ไปประจำการตามจุดต่างๆ รวมทั้งชาย แดนไทย-กัมพูชาช่วงที่เกิดปัญหากันด้วย และเราสามารถยิงตอบโต้ไปด้วยความแม่นยำ นอกจากนี้ เรายังไปบำรุงรักษาทุกๆ 4 เดือน และสามารถเดินทางไปซ่อมได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง หากเกิดปัญหา รวม ทั้งให้ทหารมาฝึกการดูแลอุปกรณ์ดังกล่าว ไปช่วยอบรมทหารรุ่นใหม่ๆ ให้รู้จักการใช้งานด้วย
"ปัญหามาเกิดในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งตามโครงการต้องซ่อมรถถังชนิดเอ็ม48 เอ5 อีก 42 คัน แต่ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องค้าง อยู่จนลงนามในสัญญาไม่ทันวันที่ 30 ก.ย. 2553 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ ผมทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไป จนในวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร รมว. กลาโหม อนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ดำเนินการใดๆ กระทั่งวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็สั่งยกเลิกโครงการซ่อมบำรุงทั้งหมด โดยบอกว่าต้องการซื้อของใหม่" นายกชพงษ์ กล่าว
นายกชพงษ์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบเครื่องควบคุมการยิงของรถถัง ที่กองทัพ จะซื้อนั้นกำหนดสเป๊กไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นของบริษัทในประเทศอิสราเอล ตกราคาเครื่องละ 12 ล้านบาท และแพงกว่านั้นในรถถังบางรุ่น หากเปลี่ยนให้รถถังทั้งหมด จะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 4.6 พันล้านบาท เมื่อรวมกับอื่นๆ อีกเช่นการสำรองอะไหล่-เป้าทดสอบ พันกว่าล้านบาท ในขณะที่การซ่อมทั้งหมดจะใช้เงินราว 1.5 พันล้านบาท แต่ในช่วงแรกทราบว่าจะใช้เงินงบประมาณที่อนุมัติให้ซ่อมในปี 2553-2554 รวมประมาณ 240 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นโครงการจัดซื้อ ซึ่งถ้าเป็นของใหม่จะติดตั้งให้รถถังได้ประมาณ 20 คัน แต่ถ้านำเงินจำนวนนี้มาซ่อมจะได้ถึง 100 คัน
"แล้วหากจะบอกว่าของใหม่ดีกว่า แน่ นอนว่าเทคโนโลยีทันสมัยกว่าของเก่าแน่ เช่นระบบตรวจจับความร้อน แต่ถามจริงๆ ว่าเราจะใช้เต็มศักยภาพของมันหรือเปล่า เพราะเทคโนโลยีแบบนี้ เหมาะกับการรบในทะเลทรายมากกว่า ส่วนบ้านเราถ้าจะมีปัญหาก็กับเพื่อนบ้านย่านนี้เท่านั้น นอกจากนี้ ของใหม่ที่กองทัพคิดจะซื้อนั้น ก็มีจุดอ่อนบางอย่าง รวมทั้งมีกล้องมองเพียงตัวเดียว ขณะที่ของเก่ามีถึง 4 ตัว เราจำเป็นต้องใช้ของแบบนั้นหรือไม่เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องเสียไป" นายกชพงษ์ กล่าว
นายกชพงษ์ กล่าวอีกว่า หลังถูกพับโครงการก็ไปร้องทุกข์กับนางรังสิมา เจริญศิริ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดทราบว่านางรังสิมา ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงกลาโหมแล้ว ก่อน หน้านี้ก็เคยร้องเรียนกองทัพ และกระทรวงกลา โหมไปหลายครั้ง ส่วนที่ทราบรายละเอียดของอุปกรณ์ตัวใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ช่วงที่ได้โครงการซ่อม มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งติดต่อผ่านตนเสนอเครื่องควบคุมการยิงของรถถังขายให้กองทัพ รวมทั้งรุ่นที่กองทัพกำลังสนใจจะซื้อด้วย แต่ตนปฏิเสธไปเพราะเห็นว่าเกินความจำเป็นสำหรับประเทศไทย
นายกชพงษ์ กล่าวด้วยว่า การออกมาร้องทุกข์คราวนี้ ไม่ใช่เพราะเสียประโยชน์ แต่ที่ทำเพราะเราภูมิใจที่เป็นบริษัทคนไทยแท้ๆ เจ้าแรกและเจ้าเดียวที่สามารถซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ของกองทัพได้ ไม่ใช่อะไรเสียก็ซื้อใหม่ สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เพราะบางอย่างเราสามารถซ่อมแซมได้ หรือเวลาอุปกรณ์มีปัญหาก็ต้องเสียเวลาเป็นเดือนๆ รอช่างจากเมืองนอกมาซ่อม แต่ถ้าเป็นบริษัทในเมืองไทย เวลามีปัญหาสามารถเรียกไปดูแลได้ทันทีภายใน 24 ช.ม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีดังกล่าวเคยมีใบปลิวโจมตีเผยแพร่ออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีคนนำมาวางไว้ในตึกสำนักงานเลขานุการกองทัพบก (สลก. ทบ.) สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ซึ่งใบปลิวขึ้นหัว ว่า "ฉาวโฉ่ วงการทหาร" ระบุโจมตีนายทหารระดับสูงบางคนสั่งการให้ยกเลิกโครงการจ้างซ่อมเครื่องควบคุมการยิงรถถัง ทั้งที่ครม.อนุมัติโครงการ 3 ปี สาเหตุเพราะมีบริษัทวิ่งเต้นล้มโครงการซ่อม เพื่อจัดงบซื้อใช้เงินกว่า 4,000 ล้าน
วันเดียวกัน ที่กองทัพบก พ.อ.วิวรรธน์ สุชาติ รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่า พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยเสนาธิการฝ่ายส่งกำลังบำรุง และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก เสนอต่อที่ประชุมให้ยกเลิกโครงการจ้างซ่อมเครื่องควบคุมการยิงรถถังซึ่งซื้อมาราคาเครื่องละ 2.5 ล้านบาท แต่ต้องใช้งบประมาณจัดซ่อมโดยบริษัทของคนไทยในราคาเครื่องละ 2 ล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มค่า จึงควรจัดซื้อใหม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเครื่องละ 10 ล้านบาท ว่า การซ่อมแก้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 และกำลังรอผลการประเมินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยใช้ ซึ่งเมื่อได้รับผลประเมินมาแล้ว คณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้วิธีซ่อมแก้ต่อไปหรือจะจัดซื้อใหม่ จึงต้องขอความเป็นธรรมให้กับพล.ท.ฉัตรชัย ในกรณีดังกล่าวด้วย เพราะขั้นตอนการพิจารณาและตัดสินใจจะกระทำโดยคณะกรรมการ มี พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รองเสธ. ทบ.เป็นประธาน ไม่ใช่จะตัดสินใจได้ด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการสั่งยกเลิกโครงการต้องมาดูว่าซ่อมแก้ หรือซ่อมเปลี่ยนใหม่อันไหนดีกว่ากัน ถ้าซ่อมแก้ก็ใช้เงินน้อยหน่อย ประมาณ 2 ล้านบาท แต่ถ้าซื้อมาเปลี่ยนใหม่ใช้เงิน 10 ล้านบาท ก็ตรงตามใบปลิว ซึ่งการซ่อมในราคา 2 ล้านบาท จะสามารถแก้ปัญหาได้สิ้นสุดหรือไม่ ก็ต้องรอการประเมินผลว่าใช้ได้ดีหรือไม่ มีอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติม หรือคุ้มค่าหรือไม่ เพราะตอนที่ซื้อมาในครั้งแรกเป็นจำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท ตอนนี้ซ่อมเป็น 2 ล้านบาท เพื่อให้คงสภาพ ก็ต้องคิดดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับของใหม่ที่กำลังพิจารณาอยู่ถึงแม้จะมีราคา 10 ล้านบาท แต่มีเทคโน โลยีใหม่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา ในวันนี้ถึงแม้จะมีข่าวว่าจะเปลี่ยน แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะต้องรอให้ศูนย์การทหารม้าทดสอบและรายงานขึ้นมาและประเมินว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับบริษัทที่จัดซ่อมเสียผลประโยชน์ พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการจัดซ่อมจะทำโดยบริษัทในประเทศไทย ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเป็นบริษัทใคร แต่เราจะไม่พยายามกล่าวหาใคร เพราะทำงานอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ทั้งนี้การพิจารณายังต้องดูเรื่องงบประมาณด้วย แต่การดำเนินการต้องทำให้ถูกต้อง ราคาสมกับที่ทำจะดีกว่าที่จะทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ส่วนเรื่องงบประมาณเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ตัวรถถัง มีอยู่ 2 กองพัน ประมาณ 100 กว่าคัน ซึ่งเราก็ทยอย อย่างไรก็ตามงบประมาณของกองทัพบกมีไม่มากในการดำเนินการ ในขั้นต้นจึงหาดูว่าจะซ่อมได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ซ่อมไปแล้วจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2552 และปี 2553-ปัจจุบัน
ด้านพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ยอมรับว่า หลังจากการซ่อมแก้และส่งกลับหน่วยใช้ที่จังหวัดปราจีนบุรีแล้ว พบว่าการซ่อมแก้ไม่เบ็ดเสร็จ เนื่องจากยังพบจุดเสียหลายจุด และการหาระยะการยิงผิดพลาด แต่หน่วยยังไม่ได้รายงานมาที่คณะกรรมการอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะซ่อมแก้ต่อไปหรือจะจัดซื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อใหม่ย่อมคุ้มค่ากว่า เนื่องจากจะได้เทคโนโลยีสมัยใหม่กว่าของเดิม และจะมีอายุการใช้งานไปอีกนาน ขณะที่ของเก่าเทคโนโลยีล้าสมัย อายุการใช้งานสั้นกว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ทราบเรื่องใบปลิวดังกล่าวและไม่สบายใจจึงสั่งให้แถลงข่าว เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งการเสนอข่าวที่ระบุว่ากองทัพบกถือโอกาสขอสนับสนุนงบประมาณจัดหา ยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
0 comments:
Post a Comment