โดย OLDBOY บางคูวัด
(ซาวด์สปอตโฆษณาวิทยุ) "แม่คะทำไมเขาต้องจุ๊บกัน....."
"เอ่อ... โตขึ้นเดี๋ยวหนูก็จะเข้าใจเอง"
"แม่คะหนูเกิดออกมาได้ยังไงนะ....."
"เอ่อ... โตขึ้นเดี๋ยวหนูก็รู้เอง"
"แม่คะแล้วหนูเข้าไปอยู่ในท้องแม่ได้ยังไง....."
"...เอ่อ... โตขึ้นเดี๋ยวหนูก็เข้าใจเอง"
บทสรุปจากโฆษณาวิทยุดังกล่าวระบุว่า บอกลูก คุยกับลูกเรื่องเพศศึกษาเสียแต่ตอนนี้ น่าจะดีกว่าปล่อยให้ลูกโตขึ้นไปเรียนรู้เองแบบผิดๆ
หยิบเรื่องดังกล่าวมาคุยก็เพราะเป็นชุดความคิดเดียวกันกับที่ภาพยนตร์ (เรื่องอื้อฉาว?) "รักจัดหนัก" เลือกประเด็นมา "บอกเล่า" ด้วยวิธีการและสไตล์การเล่าเรื่องที่น่าสนใจ
มักเป็นเรื่องที่จี๊ดใจเสมอ เวลามีใครที่ กล้าคิด กล้าพูด กล้าบอกเล่าเรื่องราวที่ตรงกับใจเรา (แต่เราเองไม่กล้าพอ...) โดยเฉพาะประเด็น เพศศึกษา เพศสภาพ ความรัก-ความใคร่ ความต้องการทางเพศ ที่สวนทาง หักล้างกรอบความคิด ความเชื่อ จารีต วัฒนธรรมไทย?
ในเมื่อชุดความคิดเดิมยังขลังอยู่เสมอแม้ดูเหมือนวันนี้จะเต็มไปด้วย โมเดิร์นแดดแอนด์มัม, ครอบครัวยุคใหม่ แล้วก็ตาม
อาทิ SEX เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ควรจะรู้เมื่อถึงวัยอันควร, เป็นสาวเป็นแส้อย่าแรดให้มันมากนัก, เป็นลูกผู้ชายอย่าใจตุ๊ด ฯลฯ
ไปจนถึงโมเดลดั้งเดิมที่ เด็ก/วัยรุ่นคือวัยเรียน มีหน้าที่เรียนหนังสือ รัก/เซ็กซ์ รอไว้ก่อน เรียนให้จบ ทำงานให้
นอกจากทีเซอร์หรือภาพยนตร์ตัวอย่าง ใบปิด ข้อความที่เลือกมาสื่อสาร (Love not yet) ที่ดู "แรง" ตามมาตรฐานศีลธรรมของผู้ใหญ่หลายๆ คนแล้ว ภาพยนตร์ "รักจัดหนัก" ก็เป็นเพียงแค่ความพยายามที่จะบอกเล่าว่า ณ พ.ศ.นี้ มีรูปแบบความรัก ความพอใจ การคบหาที่แตกต่างออกไป
เช่นเดียวกับการมีสัมพันธ์ทางเพศ ในขณะที่ "ไม่พร้อม" (ซึ่งเกิดขึ้นจริงในทุกๆขณะ) สามารถนำไปสู่อะไรได้บ้าง (อ่านประกอบในเชิงลึกประเด็น ท้องไม่พร้อมได้ที่: "5 ประเด็นแรงเปลือยสังคมไทยที่ซ่อนอยู่ใน "รักจัดหนัก" หนังที่พ่อแม่ต้องดูกับลูก!")
มี 3 กรณีตัวอย่าง (แยกเป็นภาพยนตร์สั้น 3 เรื่อง) ที่หยิบยกมา "เล่าเรื่อง" ให้พิจารณากันว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้ว พวกเขาเลือกหรือตัดสินใจจัดการกับมันอย่างไร
ประเด็นหลักจึงวนเวียนอยู่กับ ความรักของหนุ่มสาว, ความรักประสาวัยรุ่น, การมีเพศสัมพันธ์ (ทั้งแบบตั้งใจและไร้สติ), การตั้งครรภ์หรือท้องก่อนแต่ง ท้องก่อนวัยอันควร (ทั้งที่เป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์?)
ถ้าจะถามถึงประเด็นที่อยาก "เลืองข้าง" สำหรับผมแล้ว ขอยืนอยู่ฝั่งเดียวกับความตั้งใจของคนทำหนังที่ 1)กล้าคิด กล้าทำ 2)ทำอย่างตั้งใจ มีข้อมูลดีในระดับหนึ่ง 3)ทำออกมาได้สนุกตามสมควร
โดยที่ไม่คาดหวังอยู่แล้วว่า หนังจะต้องสนุกสุดยอด สมบูรณ์แบบ หรือเป็นตำราชั้นดีสำหรับสั่งสอน หรือนำไปฉายให้เยาวชนทุกสถาบันการศึกษาได้ชม ตัวหนังทั้ง 3 เรื่องทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว พร้อมกับทิ้งปมปัญหาให้ผู้ชมเก็บเอาไปคิด ตรึกตรอง ยิ่งคนที่เป็นผู้ปกครอง และตั้งใจดูอย่าง "เปิดใจ"
"รักจัดหนัก" เป็นตัวช่วยชั้นดีให้เราได้รู้จัก คุ้นเคย กับอีกโลกหนึ่งของคนหนุ่มสาวยุคสมัยนี้ เขาอยู่กันอย่างไร ทำกิจกรรมอะไร คิดอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ยิ่งรู้จักพวกเขาดีขึ้น มุมมองและความเข้าใจต่อตัวเขา ปัญหาของพวกเขา ก็น่าจะถูกปรับให้สอดคล้องกับความจริงมากยิ่งขึ้น
"ไปเสม็ด" เป็นตอนแรกที่ผมเฉยๆ หรือชอบน้อยที่สุด แม้จะชอบที่เลือกเอาแก๊ก "ไปเสม็ดเสร็จทุกราย" มาเป็นแกนเรื่อง แต่เมื่อผู้กำกับเทน้ำหนักไปกับการลุ้นว่า จะท้องหรือไม่ท้อง บวกกับบทสรุปแบบโรแมนติกชวนฝันนิดๆ จึงไม่ตรงจริตคนซาดิสม์แบบผม
วิท-แอน ปิดเทอม (รู้จักกันตอนเรียนพิเศษ) ระหว่างรอลุ้นว่าจะสอบติดได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่ฝันเอาไว้หรือไม่ ทริปไปเสม็ดก็ถูกจัดมาฆ่าเวลา และพาทั้งคู่ขึ้นสวรรค์หลายเด้ง ระหว่างลั้นลาที่ชายหาดก็รู้ผลว่า สอบติดคณะที่ตั้งใจ แบบนี้ต้องฉลองแบบจัดเต็มกันหน่อย...
แป่ว...คอนดอมหมด แต่ไม่เป็นไรมั้ง ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ... ประเด็นตรงนี้ถูกขยายน้อยไปนิดในความคิดของผม แต่รวมๆก็ถือว่าทำหน้าที่ในการ "สอน" ให้กล้าตัดสินใจ กล้าเผชิญความจริง กล้าเล่าให้เพื่อนช่วยฟัง-ช่วยคิด ฯลฯ
เรื่องที่ 3 "ทอมแฮ้ง" อันนี้แหร่มด้วยความครบรส โดดเด่นด้วยการแสดงของ อลิสสรา เลอมวณ ผู้รับบทเป็น "นัท" นักบาสทอมบอย แต่พลาดท่า โดนหนุ่มเนิร์ดชื่อประหลาด "ฟีเจอริ่ง" ซะในคืนที่เมาปลิ้น แถมโดนทีเดียวท้องอีกต่างหาก
ด้วยประเด็นที่ไม่ซับซ้อน แต่พื้นหลังของหนังที่ปูมา ชวนให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดเมื่อต้องตัดสินใจว่า จะเอาเด็กไว้หรือทำแท้ง "นัท" จึงเลือกตัดสินใจแบบนั้น
ด้วยความตั้งใจของผู้กำกับ บวกกับการแสดงที่ชวนเชื่อและรื่นไหลของเด็กในกลุ่มเกือบทั้งหมด ส่งให้หนังมีพลัง และกระตุกต่อมคิดคนดูไม่ว่าจะเป็นคนวัยเดียวกันหรือวัยผู้ปกครอง ครูบา นักวิชาการ ให้ได้อึ้งกันบ้างไม่มากก็น้อย
อย่างน้อยก็น่าจะเข้าใจในเชิงปัจเจกได้ดีขึ้นว่า เฮ้ย นั่นมันชีวิตของเขานะ สุดท้ายเขาเลือกเองนั่นแหละดีที่สุด
เรื่องที่ 2 "เป็นแม่ เป็นเมีย" ขอเก็บเรื่องนี้มาคุยท้ายสุดเพราะ ชอบมว้ากกกกก
มิใช่เพียงเพราะความแหวก แปลก พิศดาร ตั้งแต่บท ฉากหลัง องค์ประกอบต่างๆ ตัวนักแสดง ฯลฯ เท่านั้น หากสไตล์และกลวิธีที่ผู้กำกับเลือกที่จะสื่อสารกับผู้ชม มีความซับซ้อน ซ่อนปมใหญ่ๆของสังคมได้มากเท่าๆกับตีแผ่แบหรา สภาพสังคมที่แสนจะเรียลลิสติกของไทยร่วมสมัยออกมาแบบหมดเปลือก
ในชุมชนภูธรที่มิใช่เมืองใหญ่ ใครต่อใครก็มักรู้จักกันไปหมด และไอ้จุดนั้น (ความมีหน้ามีตา) นั่นแหละที่ย้อนกลับมาสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้กับเรื่องที่ดูเหมือนไม่น่าจะใหญ่โตอะไร
ก็แค่ "ไอ้ม่อน" เด็กหนุ่มนักมวยอนาคตไกล ดันไปน็อค "อิ๋ง" สาวสวยใสปิ๊ง ลูกบ้านร้านขายของชำ+อาหารตามสั่ง (ซึ่งก็ฝันไกลจะไปพิชิตรางวัล AF เป็นนักร้องมืออาชีพ) ซะท้องโย้
คราวนี้ อย่าว่าแต่จะเป็นนักมวยดังหรือนักร้องเด่นเลย ไอ้ที่เรียนอยู่ก็ต้องเลิก แล้วเลี่ยงปัญหาด้วยการแอบหมกตัวอยู่กันที่ชั้นบนของร้านมันนั่นแหละ
ขณะที่แอบยิ้มไปจนถึงฮาแตกกับมุขพิลึกพิลั่นจากโครงเรื่องดังกล่าว อีกด้านหนึ่งหนังก็บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่าเรื่องแบบนี้ มีอยู่จริงและพบเห็นได้ในแทบจะทุกชุมชนเสียด้วยซ้ำ
ครอบครัวแบบนี้ในสังคมครึ่งๆกลางๆมีให้เห็นเพียบ แม้จะไม่มีใครเอามาถ่ายทอดให้ดูสนุกเหมือนในหนัง เช่นเดียวกับองค์ประกอบรอบข้าง ครอบครัวมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อนนักเรียน ครู ข้าราชการ งานสังสรรค์ที่มีคาราโอเกะเป็นแก่นกลาง ฯลฯ
มองทะลุผ่านสไตล์การเสียดสี ตลกร้าย หลายๆช็อตแล้ว เก็บมาคิดดูดีๆ มีเครียดตามหลังได้อีกหลายประเด็นเลยทีเดียว
สรุปแล้ว ผมชอบ "เป็นแม่ เป็นเมีย" มากที่สุด ได้อารมณ์ดิบของหนังสั้น สไตล์การเล่าเรื่องที่ช่างคิด มุขร้ายลึกที่คาดไม่ถึง (แต่ผมฮาจนเขินคนนั่งแถวหลังอ่ะ) กับก้อนความคิดก้อนใหญ่ที่ทิ้งให้กลับไปขบต่อ
เป็นความตั้งใจดีที่สมควรเชียร์ชนิดไม่ต้องเม้ม แม้ว่าดูแล้วก็ยังรู้สึกว่า แรงแบบจิ๊บๆ เท่านั้นแหละ
จะว่าไปแล้วยังไม่ทันหาย "คันหู" เลยด้วยซ้ำ 555
0 comments:
Post a Comment