Links

...

เรื่องเล่าบ้านสันทรายคลองน้อย : จากหมู่บ้านรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่หมู่บ้านเสื้อแดง, Asia News, Thai , news,



ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม)

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเวทีวิชาการ  "ประสบการณ์ประชาธิปไตยของชาวบ้านเชียงใหม่" โดยนายสืบสกุล กิจนุกร หนึ่งในทีมนักวิจัยของโครงการ "ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ทางการเมืองในชนบท" ได้นำเสนอบทความเรื่อง "ประชาธิปไตยชายแดน: ประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่" ซึ่งเว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรมได้ถอดความมาเผยแพร่ดังนี้

ผมมีประเด็นที่อยากจะนำเสนอ 4 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง เสนอให้ทำความเข้าใจขบวนการเสื้อแดงในฐานะที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ภายใต้บริบทท้องถิ่น

ประเด็นที่สองจะกล่าวถึงเงื่อนไขที่ทำให้คนเสื้อแดงบ้านสันทรายคลองน้อยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวในเขตอำเภอฝาง

ประเด็นที่สามจะอธิบายถึงองค์ประกอบของแกนนำชมรมคนรักฝางแม่อายไชยปราการ ที่ทำให้องค์กรหลักของคนเสื้อแดงบริเวณนี้มีความเข้มแข็ง

ประเด็นสุดท้ายจะพูดถึงกิจกรรมของชมรมคนรักฝางในฐานะที่เป็นรูปแบบการต่อสู้ทางวัฒนธรรม

ขอเสนอให้ทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของขบวนการคนเสื้อแดงในฐานะที่เป็นขบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตย และต้องใส่ใจบริบทท้องถิ่นที่เฉพาะเจาะจงของคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงในด้านหนึ่งถูกสร้างขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็สร้างตัวเองท่ามกลางกระบวนการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่

ทุกคนที่อำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชายแดนและชายขอบอำนาจรัฐ ได้มีการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านปัญหาในชีวิตประจำวันมาก่อนเข้าร่วมขบวนการ "คนเสื้อแดง" ผลการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้พวกเขามีความตื่นตัวสูงในการเข้าร่วมเคลื่อนไหวในการเมืองระดับชาติ พลิกโฉมหมู่บ้านให้กลายเป็นศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และได้ก่อรูปความเข้าใจและท้าทายอำนาจนำในสังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคน

สันทรายคลองน้อยเป็นหมู่บ้านหนึ่งของคนเสื้อแดงที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด หมู่บ้านนี้อยู่ในพื้นที่ชายแดนอำเภอฝาง ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงพาณิชย์  โดยเฉพาะการปลูกสร้างสวนส้มโดยธุรกิจการเกษตรซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอนี้ (ฝาง แม่อาย และไชยปราการ) มากกว่าสามแสนไร่

ในปี 2540 ชาวบ้านได้ประท้วงสวนส้ม เนื่องจากผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและการแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมไปใช้ประโยชน์ บ้านสันทรายคลองน้อยกลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำฝาง ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากเอ็นจีโอ และมีหลายหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเข้าร่วมเป็นสมาชิก

ในปี 2546 รัฐบาลทักษิณตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาหกคณะ แต่อีก 2 ปีต่อมา กลไกดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป เพราะรัฐมนตรีผู้มีอำนาจดูแลรับผิดชอบขณะนั้นให้เหตุผลว่าสวนส้มสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังบ่นเรื่องสารเคมีจากสวนส้ม ผู้ใหญ่บ้านก็ได้แต่คอยประสานงานทางโทรศัพท์ไปยังบริษัทให้ลดปริมาณการใช้สารเคมีลงไปแต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงจากบริษัทเสมอมา ในขณะที่ชาวบ้านสันทรายคลองน้อยกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เราพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในพื้นที่ชนบทของไทย คือเกิดความหมายใหม่ในการพัฒนาและการเลือกตั้งระดับชาติ กล่าวคือ ในบริบทการปรับโครงสร้างในชนบทหรือความเป็นสมัยใหม่ของเศรษฐกิจชนบทนั้น ความเป็นอยู่ของผู้คนขึ้นอยู่กับเงินทุนและความรู้มากกว่าการถือครองที่ดิน และการผลิตทางการเกษตร ปัจจัยเรื่องเงินทุนและความรู้ได้ผูกโยงอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ชีวิตของชาวบ้านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมันมีทั้งด้านที่เป็นโอกาสและความเสี่ยง รัฐบาลทักษิณที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ได้มีหลายนโยบายที่ช่วยให้ชาวบ้านสามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตยุคโลกาภิวัตน์ เช่น การเข้าถึงเงินทุน การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าชาวบ้านสันทรายคลองน้อยจะให้ความหมายแก่นโยบายเหล่านี้จากมุมมองทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หรือเป็นอรรถประโยชน์นิยม แต่ว่าพวกเขายังตีความนโยบายทักษิณในฐานะที่เป็นอำนาจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ชนบทที่สามารถเลือกรัฐบาลของตัวเองได้ ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนหน้าที่พรรครัฐบาลไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล

นอกเหนือไปจากความหมายเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองแล้ว พวกเขายังตระหนักว่าพวกเขามีความรู้ ความสามารถในการจัดการกับเงินทุนของตัวเองได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากกลไกการจัดการงบประมาณของรัฐบาลก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก ที่พวกเขาถูกบังคับให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการเมืองระดับชาติและชีวิตประจำวันของชาวบ้านเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากขึ้น และนี่เป็นอัตลักษณ์ใหม่ของคนในชนบท

รัฐประหาร 19 กันยาเป็นจุดเปลี่ยนของสำนึกทางการเมืองที่สำคัญของชาวบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเข้าร่วมการต้านรัฐประหารโดยทันที กองกำลังทหารที่อยู่ตามชายแดนเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อบังคับหว่านล้อมให้ทุกคนยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2550

พวกเขาเริ่มเห็นความอยุติธรรมทางการเมืองมากขึ้น หลังจากนายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมาจากการเลือกตั้งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง พรรคพลังประชาชนถูกยุบในปีเดียวกัน และพวกเขาก็ผิดหวังเป็นอย่างมากเมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยทหารแทนที่รัฐบาลของพวกเขาที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้เนื่องจากบ้านสันทรายคลองน้อยมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับสวนส้มมาก่อน พวกเขาจึงมีความมั่นใจในการเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงมากกว่าหมู่บ้านอื่นในละแวกนั้น  ประมาณการว่ามีชาวบ้านไม่น้อยกว่า 100 คน เข้าร่วมชุมนุมแบบสลับกำลังไปมาระหว่างที่บ้านกับที่กรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553  และมีชาวบ้านจำนวน 6 คนติดค้างอยู่ในวัดปทุมวนารามระหว่างที่มีการสังหารหมู่เดือนพฤษภาคม 2553

ความเข้มแข็งของชาวบ้านสันทรายคลองน้อยทำให้ชาวบ้านที่อื่นๆ ต่างยกย่องให้หมู่บ้านดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในบริเวณนี้

ซึ่งอาจจะกล่าวโดยสรุปว่า ในอดีตที่ผ่านมาชาวบ้านต่อสู้เรื่องสวนส้มเพราะพวกเขาต้องการความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมกับขบวนการเสื้อแดงก็เพราะว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตย สำหรับชาวบ้านสันทรายคลองน้อยแล้ว ความยุติธรรมกับประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกัน

ขณะที่ "ชมรมคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ" ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการเคลื่อนไหวในพื้นที่และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นกับระดับชาติ โดยเฉพาะระหว่างการชุมนุมเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ถูกก่อตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 โดยมีผู้นำจาก 3 กลุ่มสำคัญที่มีประสบการณ์ทางการเมืองและสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่ว่าก็หนุนเสริมให้องค์กรมีความเข้มแข็ง

กลุ่มแรกคือสหายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กลุ่มนี้มีประสบการณ์การจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวชาวนา ในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในแถบนี้มาก่อน เมื่อเกิดเหตุ 6 ตุลา 19 พวกเขาก็เคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และพื้นที่ฝาง แม่อาย ไชยปราการก็เป็นพื้นที่ที่ขยายงานของพคท.มาก่อน พวกเขาปฏิบัติงานในพื้นที่จนถึงต้นทศวรรษ 2520 หลังจากนั้นพวกเขาก็มีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล พบปะพูดคุยกันโดยตลอดเวลา และแน่นอนว่าพวกเขามีเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ดีกับสหายปีกหนึ่งที่ทำงานกับพรรคเพื่อไทย

สำหรับพวกเขาแล้วการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นอดีตที่ผ่านมา แต่มีสามประเด็นที่แตกต่างกันคือ ประเด็นแรกคือ มีชาวบ้านชนบทจำนวนมากเข้าร่วมการเคลื่อนไหว ประเด็นที่สองชาวบ้านมีความคิดเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนมากกว่าที่พวกเขาคาดคิด และประเด็นสุดท้าย แม้ว่าคนเสื้อแดงบางส่วนถูกฆ่าตาย ขบวนการต่อสู้ก็ยังไม่ยุติ

สำหรับบทบาทของสหายในกลุ่มจะเป็นปัญญาชนของขบวนการ นำการประชุมและวิเคราะห์สถานการณ์ รวมทั้งคอยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ผู้นำกลุ่มที่สอง มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือผู้ประกอบการในท้องถิ่น พวกเขาอาจจะไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองแบบกลุ่มสหาย แต่เขามีทุนทางเศรษฐกิจ พวกเขาเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและกลางในเมือง พวกเขาเป็นผู้บริจาครายใหญ่ เวลาชมรมฯต้องการระดมทุนกิจกรรม อย่างไรก็ตาม มีนักธุรกิจรายใหญ่คนหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็นคหบดีท้องถิ่น ที่นอกจากจะร่ำรวยแล้ว ยังมีบารมีสูงเป็นที่ยอมรับและเคารพจากผู้คนเนื่องจากเป็นนักปฏิบัติธรรม บริจาคเงินให้กับวัดหลายแห่ง รวมถึงสนับสนุนเทศกาลและกิจกรรมสาธารณะของหน่วยงานราชการท้องถิ่นด้วยดีตลอด

นอกจากจะบริจาคเงินแล้ว คหบดีผู้นี้ยังอนุญาตให้ใช้บ้านเป็นที่ทำการวิทยุของคนเสื้อแดงแห่งแรกในพื้นที่ (ออกกระจายเสียงเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2552 ซึ่งจะเน้นการถ่ายทอดสดการชุมนุมจากคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯเป็นหลัก) การตัดสินใจเข้าร่วมเป็นประธานชมรมฯ ของเขา ทำให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมด้วยมากขึ้น และมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ผู้นำกลุ่มสุดท้ายของกลุ่มคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ คือบรรดาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น พวกเขาเป็นคนที่นี่ หรือย้ายมาทำงานแล้วมีครอบครัวที่นี่ กลุ่มครูเป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุด พวกเขาใช้เวลาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดสุดสัปดาห์หรือปิดเทอมเข้าร่วมกิจกรรม ลักษณะร่วมที่โดดเด่นของพวกเขาคือ ทักษะทางอาชีพของพวกเขาเอง อาทิเช่น การจดบันทึก การทำเอกสาร การทำบัญชีการเงิน ตลอดจนการพูดในที่สาธารณะ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีบทบาทเป็นโฆษกเวทีการชุมนุมระดับท้องถิ่นและเป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นต้น

แน่นอนว่าชมรมคนรักฝางฯ เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในส่วนกลาง แต่ทั้งนี้ชมรมคนรักฝางฯ ได้ระดมทรัพยากร สร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นมาเองในเงื่อนไขที่เป็นจริงและสอดคล้องกับท้องถิ่น อาทิเช่น การระดมทุนโดยการจัดผ้าป่า การจัดเลี้ยงโต๊ะจีน และการจัดคอนเสิร์ต เป็นต้น ไม่ใช่การรอคอยการสนับสนุนจากคนเสื้อแดงส่วนกลาง ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นชมรมคนรักฝางฯ จะไม่มีวันเติบโตและฟื้นตัวได้ภายหลังการสังหารหมู่ที่ราชประสงค์ ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองหลังจากนั้นได้เปลี่ยนไปสู่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมมากขึ้น

หลังการสังหารหมู่พฤษภา 53 มี 4 คำถามใหญ่ที่ระอุอยู่ในคนเสื้อแดง คือ ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน  ประชาธิปไตยคืออะไร  ใครเป็นคนสั่งฆ่า คนเสื้อแดงคือใคร ซึ่งคำถามเหล่านี้พุ่งตรงไปที่ความจริง หรือวัฒนธรรมที่เรามักจะถูกทำให้ลืมความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาโดยตลอด รัฐเชื่อว่าการฆ่า การจับกุมและการสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจะหยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงได้ แต่เนื่องจากมีคนเสื้อแดงหลายกลุ่มอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว หนึ่งเดือนหลังจากการปราบปรามจึงมีคนบางกลุ่มกลับไปที่สี่แยกราชประสงค์และผูกผ้าสีแดง รำลึกถึงคนที่ถูกเข่นฆ่า ซึ่งเขาไม่ได้เรียกร้องทางการเมืองอะไรเลย เพียงแต่บอกว่าที่นี่มีคนตาย และผมคิดว่าตรงนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงทั่วประเทศ

ชมรมคนรักฝางฯ กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในสถานการณ์ใหม่ สำหรับครั้งนี้หัวใจการต่อสู้อยู่ที่การต่อต้านความรุนแรงทางการเมืองและการครอบงำอุดมการณ์ของรัฐ ซึ่งพวกเขาได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา

กิจกรรมแรก คือ งานบายศรีสู่ขวัญซึ่งเป็นพิธีแบบดั้งเดิมในภาคเหนือเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้กับหมู่สมาชิก งานนี้จัดขึ้นที่วัดสันทรายคลองน้อยเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 มีคนเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน นอกจากนี้ยังมีการทำบุญให้คนตาย มีการเผาหุ่นเผด็จการ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก ปลดปล่อยความโกรธ ปลุกความหวัง และแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนเสื้อแดงยังมีชีวิตอยู่ พวกเขายังแสดงให้เห็นเป็นนัยอีกว่า วัดเป็นสถานที่การทำบุญมิใช่เป็นสถานที่สำหรับการเข่นฆ่า เฉกเช่นรัฐบาลทำกับคนเสื้อแดงที่วัดปทุมฯ

กิจกรรมที่สอง คือ การจัดเวทีปราศรัยทางการเมืองโดยนายสุรชัย แซ่ด่าน ที่เดินสายรณรงค์พูดทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้เข้าร่วมฟังการอภิปรายสาธารณะในประเด็นที่นายสุรชัยนำเสนอ และหลังจากนั้น นายสุรชัย แซ่ด่าน ก็ถูกจับกุมและถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ

กิจกรรมที่สาม คือ การจัดตั้งสถานีวิทยุที่สันทรายคลองน้อย ที่ย้ายมาจากสถานีเดิม (ที่ตั้งอยู่บนที่ดินของคหบดีท้องถิ่น) ซึ่งสถานีแห่งนั้นถูกสั่งปิดทันทีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เหตุที่เลือกที่นี้ เพราะชมรมคนรักฝางฯ ประเมินแล้วว่าชาวบ้านที่หมู่บ้านนี้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การจัดเนื้อหาให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมท้องถิ่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีภาษาไทยใหญ่สำหรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ

กิจกรรมที่สี่ คือ การเข้าร่วมวางพวงมาลาเนื่องในวันเลิกทาสในวันที่ 23 ตุลา 2553 ที่มักจะเป็นรัฐพิธีเท่านั้น แต่ในงานครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สามัญชนเข้าไปร่วมกิจกรรมและตีความหมายใหม่ให้พิธีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับความหมายของประชาธิปไตยที่เชื่อมโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น มีทั้งการวางพวงมาลา การเดินขบวนรณรงค์ปล่อยตัวนักโทษการเมือง การกระจายอำนาจ รวมถึงรณรงค์ให้ฝางเป็นจังหวัด

กิจกรรมที่ห้า คือ การเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ในขณะที่รัฐไม่ได้มีกิจกรรมหรือพิธีอันใดเลยในวันนี้ แต่สำหรับคนเสื้อแดงแล้วพวกเขารู้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่สถานีวิทยุมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ซึ่งวันนั้นรายการวิทยุปกติถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นรายการพิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย ภายนอกห้องส่งมีการถ่ายทอดสดการเสวนาที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยกลุ่มนิติราษฎร์ในวันเดียวกัน สลับกับการถ่ายทอดบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นระยะๆ ให้สมาชิกคนเสื้อแดงได้รับชม และในเวลาตอนเย็น มีการรับประทานอาหารร่วมกัน เปิดตัวนักจัดรายการให้ผู้ฟังได้รู้จัก ตัวแทนเสื้อแดงแต่ละพื้นที่ขึ้นแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หลังจากนั้นก็มีการจุดเทียนชัยพร้อมกัน ก่อนจะปิดท้ายด้วยการปล่อยโคมไฟ พร้อมร้องเพลง "ตะโกนบอกฟ้า" ของอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง

กล่าวโดยสรุปแล้ว ขอเสนอว่าเราต้องทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงจากบริบทของท้องถิ่นให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันประชาธิปไตยคือการเรียนรู้ ขบวนการเสื้อแดงที่เมืองฝาง แสดงให้เห็นว่าประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านมีประสบการณ์ต่อสู้กับความเป็นชายขอบของการพัฒนามาก่อนที่จะเป็นคนเสื้อแดง ในขณะที่นักวิชาการเรียกร้องให้ชนชั้นนำยอมรับผลการเลือกตั้งและปรับทัศนคติใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเมืองไทยยังอยู่ในมือของชนชั้นนำอยู่หรือไม่ ผมคิดว่าไม่สำคัญตราบที่คนเสื้อแดงยังแสวงหาคำตอบต่อคำถามของพวกเขาที่ถามว่า ใครคือคนบงการฆ่า?  ประชาธิปไตยคืออะไร?  ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน? "คนเสื้อแดง" เป็นใคร?

ใครจะให้คำตอบได้ ? นักวิชาการ ? สื่อ ? กรรมการสิทธิ ? หมอประเวศ ? อานันท์ ? คณิต ? พระไพศาล ? ถามดิน ถามฟ้าใครตอบได้

สำหรับผมไม่มีคำตอบ แต่ผมเสนอว่า "คนเสื้อแดง" รู้คำตอบ  และ "ความจริง" มันอยู่ในการต่อสู้ของพวกเขาแล้ว ด้วยเหตุดังนี้ มันทำให้พวกเขาก้าวเข้ามาสู่การนิยามประชาธิปไตยจากชายขอบของสังคมไทย และมันจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

0 comments:

Post a Comment

Blog Archive

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Grants For Single Moms