"การเมือง" แทรกแซง จนไร้หลัก
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2554 ให้แก่ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยเป็นหนังสือ "แจ้งลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ" และ "ชี้แจงข้อเท็จจริง อ้างถึงหนังสือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ สนช.129/13/2554 วันที่ 19 สิงหาคม 2554" ตามลำดับ
สำหรับหนังสือฉบับแรก เรื่อง แจ้งลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติ มีเนื้อหาดังนี้ "ในฐานะภาคีสมาชิก ผู้ร่วมก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และให้ความร่วมมือกับการทำหน้าที่และกิจกรรม ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วยดีตลอดมา กระผมในฐานะตัวแทนของภาคีสมาชิกอันประกอบด้วยหนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ขอแจ้งต่อคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่า หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับ ขอลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2554
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจัดตั้งขึ้นด้วยเจตนารมณ์เพื่อเป็นองค์กรควบคุมกันเอง และส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบยกระดับ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และกิจการหนังสือพิมพ์ให้ดียิ่งขึ้น แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในกรณีล่าสุดกับภาคีสมาชิกอย่างหนังสือ พิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ข่าวสดสะท้อนว่าหลักการข้างต้นมิได้รับการธำรงรักษา ซ้ำยังถูกบิดเบือนด้วยอิทธิพลการเมืองจากภายนอก
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่ามีอิทธิพลการเมืองภายนอกเข้าแทรกแซง และมีภาคีสมาชิกตกเป็นเหยื่อของการต่อสู้ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังมิได้แสดงความกระตือรือร้นจะจัดการแก้ไข รวมไปถึงดำเนินการระงับความเสียหายผู้ได้รับผลกระทบ ที่เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศศักดิ์ศรีไปแล้วดังที่ควรปฏิบัติ กลับแสดงท่าทีเหมือน เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม
ตลอดเวลากว่า 30 ปี เครือมติชนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความหนักแน่นมั่นคงในวิชาชีพ เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาชน ด้วยความเป็นมืออาชีพและวัตรปฏิบัติที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียด้านจรรยาบรรณ จนกระทั่งประสบกับข้อกล่าวหาที่เลื่อน ลอยไร้สาระเช่นนี้
ด้วยเหตุนี้ กระผมในฐานะตัวแทนของภาคีสมาชิกทั้ง 3 จึงขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า หนังสือ พิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือ พิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ขอลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยหวังว่าการแสดงออกเช่นนี้จะทำให้เกิดการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่จะนำสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกลับไปสู่มาตรฐานของเจตนารมณ์เมื่อครั้งก่อตั้งได้
หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ขอยืนยันว่า แม้จะมิได้เป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือ พิมพ์แห่งชาติแล้ว แต่หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับไปจนถึงกิจการอื่นๆ ในเครือ จะยังคงธำรงรักษา ซึ่งมาตรฐานจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ดังเช่นที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะถือกำเนิด พร้อมจะให้สังคมตรวจสอบความสุจริตโปร่งใสในการปฏิบัติงานได้ทุกเวลา และพร้อมให้ความร่วมมือกระทำการในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนส่วนใหญ่ ไปจนถึงการทบทวนสถานภาพและท่าที หากเจตนาและมาตรฐานเมื่อครั้งก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้รับการฟื้นฟูกลับมาสู่ความเป็นปกติดังเดิม จึงเรียนมาด้วยความเคารพ ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)"
ผู้สื่อข่าวระบุว่า ส่วนหนังสือฉบับที่สอง เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริง อ้างถึงหนังสือสภาการหนังสือ พิมพ์แห่งชาติ ที่ สนช.129/13/2554 วันที่ 19 สิงหาคม 2554 มีเนื้อหาโดยละเอียดดังนี้ "หนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอเรียนชี้แจงคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า ตามที่ คณะกรรมการมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีข่าวอีเมล์ที่อ้างว่าเป็นของบุคคลในพรรคเพื่อไทยระบุว่ามีการจ่ายสินบนให้กับสื่อมวลชน และแถลงผลการสอบสวนไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554
หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด ได้ออกแถลง การณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ เพื่อชี้ให้เห็นความผิดปกติและความไม่ชอบมาพากลของการสอบสวนดังกล่าว ว่า
1.ดำเนินการไปโดยผิดหลักการ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งหัวข้อสอบสวนตามชอบใจ เมื่อบุคคลไม่ผิดก็ขยายไปที่องค์กร ไปจนถึงการสอบสวนลับหลังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ข้อเท็จจริง 2.วิธีการสอบสวนและการสรุปผลสอบสวนขาดตรรกะ และความรู้ความเข้าใจในการประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ 3.พฤติกรรมแห่งการสอบสวนและผู้สอบสวนมีเจตนาน่าเคลือบแคลง โดยเฉพาะความพยายามในการใช้ผลการสอบสวนนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่ม
หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด เรียนย้ำว่าจะไม่ขอใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ต่อสภาการหนังสือ พิมพ์แห่งชาติ เพราะยืนยันมาแต่ต้นแล้วว่าไม่ยอมรับผลการสอบสวนที่ผิดปกติของคณะอนุกรรม การได้ แต่การชี้แจงครั้งนี้ เนื่องจากการสอบสวนพาดพิงถึงองค์กรหนังสือพิมพ์ ซึ่งคณะอนุกรรม การและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมิได้เปิดโอกาสให้ได้แสดงข้อเท็จจริงมาก่อน
ในฐานะภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด ขอยืนยันว่า ทั้งองค์กรและผู้ปฏิบัติงานของหนังสือพิมพ์ทั้งสอง ได้ประพฤติปฏิบัติตามกรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอย่างซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด
หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด หวังว่าคณะกรรม การสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ประกอบไปด้วยผู้อาวุโสในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิจากวิชาชีพอื่นๆ จะพิจารณาเหตุที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นธรรมและแก้ไขความเสียหายให้กับภาคีสมาชิกที่ได้รับความเสื่อมเสียทั้งที่มิได้ประพฤติตามที่ถูกกล่าวหา จึงเรียนมาด้วยความเคารพ ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)"
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้หนังสือ พิมพ์ในเครือมติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ลาออกจากภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สืบเนื่องมาจากกรณีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็ก ทรอนิกส์ (อีเมล์) ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวล ชน" กำหนดให้นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และมีอนุกรรมการ ประกอบด้วย นางบัญญัติ ทัศนียะเวช, รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์, ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ และดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นเลขานุการ
ต่อมาอนุกรรมการ ชุด น.พ.วิชัย สรุปผลการสอบสวนไม่พบว่ามีสื่อหรือบุคคลที่มีชื่อปรากฏในอีเมล์ของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยรับสินบน แต่อนุกรรมการกลับเปิดประเด็นใหม่ สอบลับหลังแล้วสรุปกล่าวหาว่า น.ส.พ.มติชน ข่าวสด และไทยรัฐ เอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญกระบวนการสอบของอนุกรรมการ ชุดนี้ผิดหลักปฏิบัติ ผิดมาตรฐานวิชาชีพหนังสือ พิมพ์ และผิดจรรยาบรรณสภาการหนังสือพิมพ์ฯ อาทิ เปิดเผยชื่อของคอลัมนิสต์ และใช้วิธีนั่งนับการลงรูปภาพโดยไม่พิจารณามูลเหตุแวดล้อมของเหตุการณ์ อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ยังรีบรับลูกนำผลสรุปไปยื่นต่อกกต. เพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทย ขณะที่ตัวน.พ.วิชัยเองก็เร่งรีบไปให้ การเป็นประโยชน์ต่อคดียุบพรรคเพื่อไทยกับกกต. ทันทีที่แถลงผลสอบสวนเสร็จสิ้น ทำให้เครือมติชน-ข่าวสด ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับแสดงจุดยืนไม่ยอมรับผลสอบฉบับนี้
นอกจากนั้น จากการตรวจสอบยังพบว่า น.พ.วิชัยมีสายสัมพันธ์กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในสมัยนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ น.พ.วิชัยเคยเขียนจดหมายส่วนตัว ส่งไปถึงนายอภิสิทธิ์ฝากฝังให้แต่งตั้งน.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นผู้ที่ทุ่มเททำงานให้พรรคประชาธิปัตย์ยาวนาน หลังจากนั้น เมื่อน.พ.ชูชัยทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสรุปผลสอบเหตุปราบคนเสื้อแดงจนมีคนตาย 91 ศพ บาดเจ็บอีกเกือบ 2,000 ราย ช่วงปี 2553 ชี้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ละเมิดสิทธิฯ ผู้ชุมนุมใดๆ ทั้งสิ้น
ต่อมา นางยุวดี ธัญญสิริ นักข่าวอาวุโสทำเนียบรัฐบาล และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์ฯ วิพากษ์อนุกรรมการชุดหมอวิชัยเช่นกันว่าสรุปผลเร็วขาดความรอบคอบ ชี้ ที่ผ่านมาตลอดห้วงวิกฤตการเมือง 2 ปี "ข่าวสด" เป็นตัวแทนต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ ผู้บาดเจ็บ-ล้มตายจากเหตุปราบคนเสื้อแดง ด้านผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ส่งอีเมล์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ที่มีน.พ.วิชัยร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย เนื่องจากรับไม่ได้กับการตรวจสอบมติชน-ข่าวสด ของน.พ. วิชัย โดยระบุว่ามีอคติไม่เป็นธรรม
ขณะที่นายฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงสาเหตุที่ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ กับผู้สื่อข่าวแตกประเด็น ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ว่า "กระบวนการทั้งหมดนี้ รวมอยู่กับตัวบุคคลซึ่งถูกสอบ ท่านไม่เคยบอกก่อนว่าจะตรวจสอบองค์กรด้วย ไม่มีตรงไหนของหนังสือที่แจ้งมาว่า เนื่องจากผลสอบไม่พบพฤติกรรมของบุคลากรรวมถึงองค์กรคุณด้วยนะ ไม่มี ไม่ได้บอก เราถึงตั้งข้อสงสัยว่าเลยธงหรือเปล่า วิธีการสอบสวนของคณะอนุกรรมการมีปัญหาในตัวมันเอง ท่านมองปัญหาเป็นจุด ไม่มองที่มาที่ไป ว่าก่อนเลือกตั้งเป็นไง หลังเลือกตั้งแล้วเป็นไง จับมาจุดเดียวแล้วลงมติว่า ผมเป็นคนอย่างไร" และยืนยันว่า ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง จะสามารถกำหนดทิศทางใดทิศทางข่าวในแต่ละวันเพียงคนเดียวได้ เพราะการคัดเลือกข่าวของ มติชน-ข่าวสด เป็นไปตามระบบวิชาชีพผู้ประกอบ การหนังสือพิมพ์ ด้านนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการบริษัทมติชน ส่งหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน เพื่อแสดงความประสงค์ขอถอนตัวออกจากการเป็นผู้แทนองค์กร และกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกลุ่มผู้แทนองค์กร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554
0 comments:
Post a Comment