Links

...

พญ.จี้หมอวิชัย ทิ้งบอร์ด"อภ." โชว์สปิริต ไม่ทับซ้อน นั่งสปสช., Asia News, Thai , news,




พ.ญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญประธานสมาพันธ์แพทย์ร.พ.ศูนย์ฯ เดินหน้าจี้ "หมอวิชัย" เลือกให้ชัดเจนว่าตกลงต้องการนั่งเก้าอี้ใดกันแน่ ระหว่างกรรมการสำนัก งานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพราะการดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อน-ทับซ้อนกันทั้งสององค์กรนั้นอาจก่อให้เกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสการจัดซื้อขายยา ชี้ทางออกควรแสดงสปิริตลาออกจากประธานบอร์ดอภ. ก่อนหมดวาระในต้นปีหน้า

จากกรณีพ.ญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ อาทิ สมาคมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางสิ่งแวด ล้อม องค์กรแรงงานรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ชมรมเกษตรกรรักษ์สิ่งแวดล้อม เครือข่ายป้องกันประชาชนด้านสาธารณสุข ชมรมผู้สูงอายุชนบท ฯลฯ ยื่นหนังสือต่อนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เรียกร้องให้คัดชื่อน.พ.วิชัย โชควิวัฒน ออกจากการเป็นคณะกรรมการสปสช.ในสัดส่วนตัวแทนจากผู้สูงอายุ เนื่องจากน.พ.วิชัยมีพฤติกรรมนั่งทับซ้อน 2 ตำแหน่ง โดยเป็นทั้งประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์สปสช. ขณะเดียวกันก็เป็นประธานองค์การเภสัช กรรมด้วย จึงเป็นทั้งผู้ซื้อ-ขายในคนเดียวกัน นอกจากนั้น น.พ.วิชัยยังดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสปสช. หลายวาระ โดยใช้วิธีสลับสับเปลี่ยนองค์กรที่มา ขณะที่นายวิทยารับเรื่องร้องทุกข์ของกลุ่มพ.ญ.ประชุมพรและเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบ ส่วนน.พ.วิชัยไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ ตามที่เสนอข่าวมาแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ญ.ประชุมพร ประธานสพศท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวิทยา รมว.สาธารณ สุข ตั้งคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ดังกล่าว โดยมีนายธวัชชัย สุทธิบงกช เลขา นุการ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน ว่า หากดำเนินการเรื่องนี้จริง ถือว่าดีมาก เนื่อง จากไม่เคยมีการแต่งตั้งลักษณะนี้มาก่อน เพราะที่ผ่านมาเคยไปร้องปัญหาของโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) รวมทั้งปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ บ้างให้ความสำคัญ บ้างไม่ใส่ใจ แต่ไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาดูแลตรวจสอบ ครั้งนี้จึงเป็นความหวัง เพียงแต่หวังว่าจะไม่ใช่การแต่งตั้งเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น

พ.ญ.ประชุมพร กล่าวว่า หากมีการแต่งตั้งแล้วเสร็จเมื่อไร ทางสพศท. จะขอเข้าพบเพื่อร้องทุกข์กรณีน.พ.วิชัย นั่งทำงานทับซ้อนทั้งในตำแหน่งประธานบอร์ด องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และยังได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ดสปสช.ในสัดส่วนตัวแทนภาคองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ด้านผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าทับซ้อน เนื่องจากการนั่งบอร์ดสปสช. คือ ผู้จัดซื้อยา ขณะที่บอร์ด อภ. คือ ผู้ขายยา อาจเกิดคำถามถึงความไม่โปร่งใสขึ้นมาได้

"แม้น.พ.วิชัยจะหมดวาระในตำแหน่งประธานบอร์ดอภ. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2555 แต่ถือว่านานเกินไป ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะมีการซื้อขายยาในลักษณะใดหรือไม่ ดังนั้นหากน.พ.วิชัยมีสปิริตควรลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดอภ.ก่อน ควรเลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ไม่ใช่ควบทั้งหมด แบบนี้ไม่ถูกต้อง" พ.ญ.ประชุมพร ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการเลือกบอร์ดสปสช. ในส่วนของเอ็นจีโอนั้นถือว่าถูกต้องตามกฎหมายมาตรา 13 ตามมาตรา 13 วรรค 4 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือ ไม่ พ.ญ.ประชุมพรตอบว่า ตนไม่เข้าใจกับกฎหมายขององค์กรนี้ เพราะการเขียนกฎหมายลักษณะนี้ย่อมทำให้สามารถเลือกพวกพ้องตนเองได้ เพราะทำมาแล้วตั้งแต่ตั้งสปสช. เป็นเวลา 9 ปี ไม่มีใครทักท้วง ทำมาเรื่อยๆ แบบนี้ถูกต้องแล้วหรือ จึงอยากฝากให้คณะกรรมการที่จะมาตรวจสอบช่วยเคลียร์เรื่องนี้ด้วย เพราะไม่เป็นธรรมกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานเป็นเช่นกัน ที่สำคัญคนเราจะสวมเสื้อหลายตัว สวมหมวกหลายใบ เหมาะสมหรือไม่ คงต้องถามสังคมด้วย

เมื่อถามถึงกรณีการเลือกบอร์ดสปสช. ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ที่ส่วนใหญ่มาจากฝ่ายการเมืองนั้น พ.ญ.ประชุมพร กล่าวว่า ตนไม่เห็นรายชื่อ แต่หากเป็นคนที่ทำงาน จริง มีคุณสมบัติตรงตามงานของบอร์ด สปสช.ในการดูแลประชาชนก็ถือว่าทำได้ เพราะไม่จำเป็นว่าบอร์ดสปสช.ต้องเป็นหมอ หรือต้องเป็นคนของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์น.พ.วิชัย ในประเด็นการร้องเรียนของกลุ่มสพศท. และเครือข่ายเป็นวันที่สอง แต่ได้รับการปฏิเสธเช่นเดิม โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องเก่าเอามาพูดใหม่ เป็นเรื่องที่รู้อยู่ว่าความจริงเป็นอย่างไร และข้อมูลไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง ไม่สร้างสรรค์

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และคณะกรรมการสปสช. ในสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบคณะกรรมการสปสช. เป็นเรื่องธรรมาภิบาลของรัฐมนตรีว่าเป็นเรื่องที่มีมูลเหตุสมควรที่จะต้องสอบสวนหรือไม่ และอำนาจฝ่ายบริหารจะก้าวก่ายหลักการบริหารของคณะกรรมการหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของคณะกรรมการ หรือหน้าที่การเลือกคณะกรรมการก็เป็น สิ่งที่กฎหมายระบุอำนาจไว้ว่า สัดส่วนจากภาคประชาชน จะมาจากองค์กร 9 ด้าน และให้คัดเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน และเมื่อได้รายชื่อ 5 คนจะต้องส่งให้ตรวจความถูกต้องว่ามีสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าคุณสมบัติไม่ครบก็ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีน.พ.วิชัยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสวมหมวกหลายใบถือว่าไม่เหมาะสม นายนิมิตร์กล่าวว่า หากจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ต้องดูคนอื่นด้วยว่ามีเสื้อกันกี่ตัว หมวกกี่ใบ และถ้าจะบอกว่าน.พ.วิชัย มีหมวกหลายใบ ก็เป็นเรื่องปกติของคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม ที่จะมีหลายบทบาทหน้าที่ แต่บทบาทหน้าที่นั้นๆ ต้องดูด้วยว่าทำประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่

ขณะที่น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของการสรรหา บอร์ดสปสช.สัดส่วนเอ็นจีโอเป็นการดำเนินตามกฎหมายมาตรา 13 วงเล็บ 4 ที่ระบุว่า ผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไร ให้คัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มทั้งหมด 9 กลุ่ม โดยให้เหลือเพียง 5 คน แต่ละกลุ่มประกอบด้วย งานด้านเด็ก เยาวชน งานด้านสตรี งานด้านผู้สูงอายุ งานด้านคนพิการ งานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรัง งานผู้ใช้แรงงาน งานด้านชุมชนแออัด งานด้านเกษตร และงานด้านชนกลุ่มน้อย ซึ่งในส่วนของนพ.วิชัยจัดอยู่ในสัดส่วนของงานด้านผู้สูงอายุ การคัดเลือกจึงเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายอยู่แล้ว

0 comments:

Post a Comment

Blog Archive

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Grants For Single Moms