Links

...

สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ ไม่ได้จบแค่ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดพระโขนงเท่านั้น, Asia News, Thai , news,


สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ ไม่ได้จบแค่ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดพระโขนงเท่านั้น



สามารถนำคดีไปสู่ศาลอาญาได้อีกเพราะมาตรา 17 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯที่คุ้มครองเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานไว้ว่าผู้ที่ใช้อำนาจฉุกเฉินไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ถ้าหากได้ดำเนินการดังกล่าวไปโดยสุจริต และเหมาะสมต่อสถานการณ์ เท่านั้น ซึ่งแนวคำพิพากษาของศาลแพ่งก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ


โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

จากการที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2554

กรณีที่นายไสว ทองอุ้ม และนายสนอง พานทอง ผู้ร่วมชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ดำเนินคดีจำเลย 5 ราย ในข้อหาละเมิด กรณีสลายการชุมนุมเมื่อเดินเมษายน2552 แต่ศาลรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2(กองบัญชาการกองทัพไทย) และจำเลยที่ 5(กองทัพบก) และมีคำพิพากษาให้ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,200,000 บาท และร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2552 เป็นต้นไปกับให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โดยให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 มีคำสั่งให้กองกำลังทหารซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาและสังกัดของตนตามลำดับขั้นเข้าปฏิบัติภารกิจเพื่อยึดคืนพื้นที่และเปิดผิวการจราจรในบริเวณที่เกิดเหตุในยามวิกาล ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยหลักสากล แม้จะได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งอนุญาตให้ใช้อาวุธจริงได้ในการปฏิบัติภารกิจ

แต่ตามกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยตามเอกสารหมาย ล.12 ผนวก จ.ข้อ 5.8 ทหารที่ปฏิบัติการปราบจลาจลจะใช้กำลังได้เฉพาะเพื่อป้องกันตนเอง หรือป้องกันชีวิตผู้อื่นจากอันตรายใกล้จะถึงจากกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธเท่านั้น และการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยใช้กำลังทหารติดอาวุธโดยสภาพย่อมต้องกระทำโดยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

เพราะการใช้วิธีการดังกล่าวย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมโดยสุจริตได้ เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหารในบังคับบัญชาตามคำสั่งและในสังกัดของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ก่อผลให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง

จากคดีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจริงๆแล้วเป็นการละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นอำนาจของศาลปกครอง แต่ศาลปกครองถูกจำกัดอำนาจไว้ตามมาตรา 16 ของ พรก.ฉุกเฉินฯ ที่บัญญัญัติว่าข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองแต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 17 ของ พรก.ฉุกเฉินฯ

คดีจึงถูกนำไปฟ้องยังศาลแพ่งตามมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญ ปี 50

ประเด็นที่ผมยังมาทั้งหมดนี้คงมิใช่ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลไหน แต่ประเด็นก็คือว่าผลที่ตามมาภายหลังจากคดีนี้หากถึงที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่ากองทัพก็คงจะต้องดำเนินอุทธรณ์ไปจนถึงที่สุด หากผลแห่งคำพิพากษาออกมาว่ายกฟ้องก็แล้วไป แต่หากแพ้คดีและต้องชำระค่าสียหายให้แก่โจทก์ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วจะทำอย่างไร

แน่นอนว่าหากเป็นเช่นนั้นกองทัพก็ต้องชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษา แต่ที่สำคัญก็คือค่าเสียหายที่กองทัพนำไปชำระนั้นย่อมมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนตาดำๆนั่นเอง

ในกระบวนการทางกฎหมายนั้นเรื่องยังคงไม่จบเพียงแค่กองทัพนำเงินไปชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่านั้นเพราะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตั้งแต่ผู้ออกคำสั่งในระดับสูงสุดเป็นต้นมาจะต้องถูกไล่เบี้ยตาม พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งในกรณีนี้ก็ปรากฏชัดเจนอยู่แล้วในคำพิพากษาศาลแพ่งนี้ว่ากระทำไม่ชอบตามหลักสากลซึ่งถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

เว้นเสียแต่ว่าจะพิสูจน์เป็นรายๆไปได้ว่าใครประมาทเลินเล่อหรือไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะหากไม่ใช่การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดฯก็จะให้การคุ้มครองไว้ ไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้นได้ และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดลงมาหากถูกเรียกให้ชำระเงินแล้วไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์คำสั่ง

หากอุทธรณ์แล้วยังไม่พอใจก็สามารถนำคดีไปสู่ศาลปกครองได้อีก(คนละขั้นตอนกับมาตรา 16 ของ พรบ.ฉุกเฉินฯแล้ว)

สรุปได้ว่าหนังเรื่องนี้คงว่ากันอีกยาว แต่ที่แน่ๆคำพิพากษาศาลแพ่งฉบับนี้ย่อมเป็นบรรทัดฐานที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ที่ได้ความเสียหายจาการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะเป็น เมษาฯ52 หรือ พฤษภาฯ53 ก็ตาม จะนำคดีไปสู่ศาลแพ่งได้

และนอกจากนี้แล้วเราก็ยังสามารถนำคดีไปสู่ศาลอาญาได้อีกเพราะมาตรา 17 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯที่คุ้มครองเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานไว้ว่าผู้ที่ใช้อำนาจฉุกเฉินไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ถ้าหากได้ดำเนินการดังกล่าวไปโดยสุจริต และเหมาะสมต่อสถานการณ์ เท่านั้น ซึ่งแนวคำพิพากษาของศาลแพ่งก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

กอปรกับเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยกรณีถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธสงครามยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม พ.ค.53 โดยเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาตาม พรก.ฉุกเฉินฯอีกเช่นกัน โดยศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งก็ต้องรอดูใจพนักงานอัยการว่าจะอุทธรณ์หรือไม่อย่างไร

จากคำพิพากษาของศาลจังหวัดพระโขนงนี้ สามารถอนุมานได้ว่ายังมีประชาชนที่บริสุทธิ์ถูกฟ้องร้องเป็นผู้ต้องหาและถูกคุมขังอยู่อีกนับร้อยคน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ที่สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลดังคดีแรกได้อีกเช่นกัน

ใครทำกรรมอันใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นอย่างแน่นอนครับ
---------------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 กันยายน 2554

*****
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:2เสื้อแดงเปิดใจหลังชนะคดีทหารยิงคนมือเปล่า

0 comments:

Post a Comment

Blog Archive

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Grants For Single Moms