Links

...

โต้กันนัวคดีที่ดิน ปูแจงทูลฯกสทช. ยันทำตามข้อกม. อาจถก"กฤษฎีกา", Asia News, Thai , news,

กก.ยันเอง ไม่เร่ง"ฎีกาทักษิณ"




พบทหาร - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เดินทางมารับฟังบรรยายยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธ ศาสตร์ทหาร ของนักศึกษาวิทยาลัยด้านทหาร 5 สถาบัน ที่สโมสรทหารบก เมื่อวันที่ 8 ก.ย.
"ยิ่งลักษณ์" ยังไม่ได้รับรายชื่อกสทช. เผยต้องมอบเลขาฯ ครม.ตรวจข้อกฎหมายก่อน หากมีปัญหาก็ต้องรอฟังกฤษฎีกา เหลิมโวยปชป.พูดความจริงครึ่งเดียว-มุ่งโจมตีฎีกาแม้ว โฆษกยธ.แจงยิบหลักเกณฑ์ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หวั่นทำสังคมสับสนหลังถาวรยกข้อกฎหมายมาอ้าง คณะกรรมการกลั่นกรองฎีกาทักษิณเตรียมเริ่มงาน 9 ก.ย. ปุชี้กรณีมหาดไทยทำความเห็นฎีกาพิจารณาเป็นรายคดี เอาไปเทียบกรณีแม้วไม่ได้ แนะทักษิณกลับมาสู้คดีเพื่อเกียรติยศ นพดลชี้แม้ตกเป็นเหยื่ออำนาจปฏิวัติคนละเรื่องกับเกียรติยศที่ปุระชัยพูดถึง ยันไม่มีการตั้งทีมบ้านพิษณุโลก-แค่ทีมยุทธศาสตร์ ปชป.หนุนแก้รธน.รื้อสละเอกสิทธิ์ต้องผ่านสภา

"ยิ่งลักษณ์"แจงอินโดฯก่อนไปเขมร

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่สโมสรทหารบก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปรับฟังการบรรยายแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหารของนักศึกษา 5 สถาบัน ประกอบด้วย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 2553 วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพบก วิทยาลัยการทัพเรือ และวิทยาลัยการทัพอากาศ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์การใช้กำลังทหารสนับสนุนรัฐบาล ร่วมกับกำลังอำนาจแห่งชาติด้านอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชาติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศอาเซียน เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งตามธรรมเนียมปฏิบัติและขอบคุณผู้นำประเทศอาเซียนที่ส่งสารมาร่วมแสดงความยินดีกับนายกฯหญิงคนแรกของไทย โดยวันที่ 10 ก.ย. จะไปเยือนประเทศบรูไน เพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน โดยจะหารือถึงความสัมพันธ์และครอบคลุมถึงความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ และขอบคุณบรูไน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกโอไอซี ที่ให้การสนับสนุนไทยในเวทีองค์การความร่วมมืออิสลามและเข้าใจไทยในการแก้ปัญหาภาคใต้

นางฐิติมา กล่าวว่า จากนั้นวันที่ 12 ก.ย. จะเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพบประ ธานาธิบดีอินโดนีเซีย หารือใน 6 ประเด็น อาทิ เรื่องอาหารฮาลาล การประมง นอกจากนั้นจะเน้นถึงความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และขอบคุณอินโดนีเซียที่เป็นคนกลางช่วยแก้ปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชา ทั้งนี้จะเดินทางแบบเช้าไปกลับค่ำ และที่ไปเยือนอินโด นีเซียก่อนกัมพูชา เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประ ธานอาเซียน และวันที่ 15-16 ก.ย. จะเดินทางเยือนกัมพูชาและสาธาณรัฐประชาธิปไตยประชา ชนลาว ตามลำดับ

เหลิมแจงเหตุฎีกาแม้วตกเป็นข่าว

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรบังคับหรือกฎหมายระบุไว้ในแต่ละครั้ง ตนไม่ได้ท้าทาย แต่ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์พูดไม่หมด พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว ทั้งที่เรื่องนี้คนเสื้อแดงเคยถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ มากว่า 3 ปีแล้ว โดยส่งเรื่องผ่านสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง มีประชา ชนร่วมลงชื่อ 3.6 ล้านคน เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นชื่อที่ไม่ถูกต้อง 1.6 ล้านคน และที่ถูกต้องอีก 2 ล้านคน และสำนักราชเลขาฯ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลที่ผ่านมาว่ามีความเห็นอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีการตอบกลับ อีกทั้งยังสั่งให้กรมการปกครองตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เท่ากับรัฐบาลยื้อเวลามาตลอด

"เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล สำนักราช เลขาฯ ได้ถามความเห็นมาเช่นกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงมอบหมายผมให้ดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรายังไม่ได้ทำอะไร มีแต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาพูด ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาทำก่อน แต่เมื่อมีการถามมาเราก็ต้องตอบ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เป็นฎีกาเก่าที่มีอยู่แล้ว" รองนายกฯกล่าว

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์คงยังมึนอยู่ เพราะแพ้พรรคเพื่อไทยเยอะ แบบนี้เขาเรียกว่ายัง "ก่ง ก๊ง" เพราะไม่มีใครทำอะไรเลย แต่เอามาพูดเป็นเรื่องเป็นราว ในเมื่อเราเป็นรัฐบาลเราต้องดูแลให้เป็นไปตามความถูกต้องชอบธรรม แต่ไม่ใช่เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ หรือที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะ เมื่อครั้งที่ไปหาเสียงก็บอกประชาชนว่าถ้าอยากให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย และประชาชนก็เลือกมา ถ้าประชาชนไม่ชอบคงไม่เลือก พ.ต.ท. ทักษิณเองไม่เคยบอกให้ช่วย มีแต่พรรคประชาธิปัตย์ที่คิดขึ้นมาเอง

ลั่นคดีที่ดินรัชดาฯทักษิณไม่ผิด

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงกรณีที่ดินรัชดาฯของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร ว่า เมื่อครั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินนั้น ไม่ได้บอกว่าทุจริต แต่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้คุณหญิงพจมาน ไปซื้อที่ดินมาจากกองทุนฟื้นฟู และได้สอบถามธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว และได้รับการยืนยันว่าซื้อขายได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะสามี ได้เซ็นยินยอมให้ซื้อ ซึ่งในการพิจารณาของศาลครั้งนั้น มี 5 เสียงที่เห็นว่าผิด และอีก 4 เสียงเห็นว่าไม่ผิด ต่อมาเมื่อกองทุนฟื้นฟู เห็นว่าสัญญาไม่น่าจะเป็นไปโดยชอบ จึงยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งตัดสินว่าสัญญาเป็นโมฆะ เท่ากับเรื่องนี้การซื้อขายไม่เกิดขึ้น และต้องกลับไปสู่จุดเดิม ดังนั้น เรื่องนี้พ.ต.ท. ทักษิณจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าเรื่องนี้ความผิดเกิดขึ้นแล้ว ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เมื่อสัญญาเป็นโมฆะ การซื้อขายไม่เกิด ความผิดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงคนเสื้อแดงยื่นฎีกาขอพระราชอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า กรณีนี้มองว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีความผิดใดทั้งสิ้น แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีคำพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินรัชดาฯเป็นการอำนาจที่มิชอบ แต่ศาลแพ่งได้พิจารณาให้คู่สัญญาคืนเงินคุณหญิงพจมาน เท่ากับการซื้อข่ายที่ผ่านมานั้นเป็นโมฆะ การซื้อขายยังไม่เกิดขึ้น ความผิดจึงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้นศาลฎีกาฯต้องนำเรื่องดังกล่าวมาตัดสินใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ยื่นเรื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าศาลฎีกาฯจะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเมื่อใด

โฆษกยธ.โต้"ถาวร"

ที่กระทรวงยุติธรรม นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวง แถลงว่า การออกมาแถลงต่อสาธารณชนของนายถาวร เสนเนียม ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นการกล่าวถึงกฎหมายเพียงบางมาตรา ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในบทบัญญัติของกฎหมาย และมองว่ารัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการในสิ่งซึ่งไม่ถูกต้อง จึงขอชี้แจงดังนี้

"เรื่องนี้ทางรัฐบาลไม่มีความประสงค์จะให้เป็นประเด็นข่าว เพราะทราบดีว่ากระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนใด ทั้งคนไทยหรือต่างประเทศที่ได้รับผลจากกระบวนการยุติธรรมไทย และประสงค์จะขอพระบารมีจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามกฎหมายไทยเป็นเรื่องของพระราชอำนาจที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีความพยายามนำเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษมาเป็นประเด็น โดยเฉพาะโยงไปถึงพ.ต.ท.ทักษิณ และมีความพยายามชี้นำสังคม โดยนำข้อกฎหมายเพียงบางส่วนมาเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนอาจเป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความสับสนและไม่เข้าใจ" โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าว

แจงยิบหลักเกณฑ์อภัยโทษ

นายถิรชัยกล่าวอีกว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ จึงขอชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องราวการขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนี้ หลักการการพระ ราชทานอภัยโทษ 1.หลักแห่งความเมตตาและกรุณา อันมาจากอธิปัตย์หรือประมุขแห่งรัฐ เพื่อให้มีโอกาสกลับตนเป็นคนดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยความจงรักภักดี 2.หลักการแห่งความยุติธรรมโดยสมบูรณ์ตามหลักนิติธรรม เพื่อแก้ไขความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมและผ่อนคลายความเคร่งครัดของการบังคับใช้กฎหมาย 3.หลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา 4.หลักแห่งการบริหารในกิจการราชทัณฑ์ 5.หลักแห่งความมั่นคงของประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย ความเป็นธรรม ในสังคม ให้ทุกคนมีความสำนึกสมัครสมานสามัคคี และสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ส่วนรูปแบบของการพระราชทานอภัยโทษมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบคือ 1.การพระราชทานอภัยโทษในรูปแบบพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีต่างๆ 2.พระราชทานอภัยโทษต่อผู้ที่ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าถวายฎีกา 3.การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 191 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ การพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจเฉพาะซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เป็นเนื้อหาสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 242

ชี้ยังไม่รับโทษก็ยื่นฎีกาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าตามมาตรา 259 ระบุว่าผู้ต้องคำพิพากษา ผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว หรือเครือญาติหรือไม่ โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ถ้าอ่านโดยไม่ได้ดูกฎหมายอื่นประกอบ หรือไม่ได้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมอาจจะเข้าใจอย่างนั้น แต่ลงไปในรายละเอียดแล้วดูกฎหมายอื่นประกอบ เท่าที่จำได้คือถ้อยคำที่ระบุว่า ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆนั้นเป็นการระบุไว้อย่างกว้าง จึงคิดว่าเป็นหลักนิติธรรมที่กฎหมายได้เขียนไว้และให้สิทธิ์ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆได้อย่างชัดเจน ดังนั้นถ้านำบทบัญญัติกฎหมายที่ระบุเรื่องผู้เกี่ยวข้อง บุพการี หรือผู้สืบสันดาน จะเห็นชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ สามารถที่จะร่วมยื่นเรื่องราวได้

เมื่อถามย้ำว่าไม่ต้องรับโทษก็สามารถยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ใช่หรือไม่ โฆษกยุติธรรมกล่าวว่า ตามมาตรา 259 ก็จะชัดเจนตามนั้น

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ที่ผ่านมามีบุคคลใดใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 259 บ้างหรือไม่ นายถิรชัยกล่าวว่าคณะกรรมการตรวจสอบจะต้องไปดูว่าจะมีเรื่องการดำเนินการเรื่องนี้เพียงใด แต่เคยมีข้อมูลหากจำไม่ผิดคือ อดีตอธิบดีกรมอัยการ นายโกเมน ภัทรภิรมย์ ซึ่งเป็นกรณีศึกษา ยังไม่ได้ถูกบังคับโทษ แต่เป็นโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และมีโทษปรับ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ อาจจะเข้าข่ายนี้หรือไม่ทางคณะกรรมการจะต้องไปตีความ

เผยไม่อยากให้สังคมสับสน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีบุคคลอื่นมายื่นเรื่องในลักษณะเดียวกัน กระทรวงต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาเหมือนกรณีพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายถิรชัยกล่าวว่า ทุกคดีมีความสำคัญทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคดีนี้ถูกทำให้มีความสำคัญ มีการพูดจาในทำนองมีการเร่งรีบ ถึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการ ไม่เช่นนั้นก็จะปล่อยให้เป็นกระบวน การตามขั้นตอนตามปกติ เรื่องนี้ดำเนินการมาแล้วและค้างอยู่ในรัฐบาลที่แล้ว 2 ปี เพื่อจะส่งเข้ามาในรัฐบาลชุดนี้ ถ้าดูภาพรวม จะเห็นชัดว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้มีการดำเนินการตั้งขึ้นมาเพื่อการยื่นฎีกาเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด เมื่อถามว่ากรณีนายโกเมนได้รับโทษจำคุกและไม่ได้หลบหนีจะใช้เทียบเคียงได้หรือไม่ นายถิรชัยกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองทำให้ดูเหมือนเป็นการเร่งรีบการพิจารณาเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งสวนทางกับรัฐบาลหรือไม่ ที่ระบุว่าเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่นโยบายหลัก นายถิรชัย กล่าวว่า เพราะรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม ไม่อยากให้สังคมเกิดความสับสนอีกต่อไป เพราะถ้ามีการพูดในทำนองข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ครบถ้วนมันจะทำให้เกิดการ วิพากษ์วิจารณ์ไปเรื่อยๆ แล้วจะเป็นการพาดพิงถึงพระราชอำนาจ จะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นจึงต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำหรับพิจารณาให้ชัดเจน และจะมีคำตอบให้สาธารณ ชนได้ทราบต่อไป และจะชี้แจงแต่ข้อกฎหมายที่มีผู้กล่าวถึง และทำให้กฎหมายที่พูดออกมาไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเท่านั้นเอง

กก.กลั่นกรองฎีกาเริ่มงาน9ก.ย.

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยมีความเห็นปฏิเสธเรื่องของการยื่นฎีกาผู้ที่หนีคำพิพากษาแล้วขออภัยโทษ ซึ่งไม่เข้าข่าย ดังนั้นจะหยิบกรณีดังกล่าวมาเทียบเคียงกับกรณีพ.ต.ท. ทักษิณได้หรือไม่ นายถิรชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคณะทำงานจะต้องนำไปศึกษา และจะต้องนำมาถกแถลงในคณะกรรมการเพื่อหาข้อยุติว่าเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 9 ก.ย. เวลา 15.00 น. ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฐานะประธานฯ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการทั้ง 10 คน เป็นนัดแรกที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดินแดง ประกอบด้วย นายจุมพล ณ สงขลา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ., นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา, นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ, ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด ประธานคณะหลักสูตรสาขาวิชาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล., นายนัทธี จิตสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม, ผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมราช ทัณฑ์ และหัวหน้าฝ่ายอภัยโทษ กรมราชทัณฑ์

ด้านผศ.วุฒิศักดิ์กล่าวว่า รมว.ยุติธรรมไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานเอาไว้ จึงเห็นว่าการกลั่นกรองข้อกฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน โดยจะตรวจสอบอย่างละเอียดตามข้อกฎหมายในทุกแง่มุม

โฆษกศาลปัดให้ความเห็นรื้อคดี

นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อฟื้นการพิจารณาคดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกของพ.ต.ท. ทักษิณ ว่า กฎหมายมีบทบัญญัติให้สามารถรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 โดยการรื้อฟื้นคดีอาญานั้นก็เคยมีให้เห็น เช่นกรณีการจับผู้ต้องหา หรือจำเลยผิดตัว เหมือนคดีฆ่าน.ส.เชอรี่แอน ดันแคน หรือเรื่องพยานหลักฐานเท็จ ขณะที่คดีของพ.ต.ท.ทักษิณซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาก็เป็นคดีอาญาเช่นกัน หากฝ่ายผู้แพ้คดีจะยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีเพื่อพิจารณาใหม่ ก็ทำได้ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่การพิจารณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ บัญญัติ

"จะบอกว่าคดีนี้รื้อฟื้นได้หรือไม่ ในฐานะที่เราเป็นศาลและต้องพิจารณาเรื่องที่อาจจะเข้ามา จึงคงตอบไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นการชี้นำในเรื่องที่กำลังเป็นคดี ดังนั้นถ้าจะมีการรื้อฟื้นคดีก็ต้องพิจารณาตามหลักที่มีกฎหมายบัญญัติ" โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า หากยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่จริง จะทำให้ผู้ที่สอบสวนคดีในครั้งแรกมีความผิดหรือไม่ นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดหากไม่ปรากฏว่าไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไม่ได้เป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวัง จนประมาทเลินเล่อแล้ว กฎหมายย่อมคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เช่นนั้นถ้าศาลพิพากษายกฟ้องคดีใดแล้ว พนักงานสอบสวนและอัยการจะต้องถูกฝ่ายผู้แพ้ฟ้องทุกคดี

ด้านนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตนไม่เห็นรายละเอียดคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีที่ดินรัชดาฯ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคงไม่รื้อคดีขึ้นมาใหม่ ซึ่งการจะรื้อคดีนั้นขึ้นอยู่ว่าจะมีข้อเท็จจริงใหม่หรือไม่

เกณฑ์พรบ.รื้อฟื้นคดีอาญาฯ

สำหรับพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ ได้บัญญัติ หลักในการยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาไว้ มาตรา 5 ระบุว่า คดีใดที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อมีเกณฑ์เข้าข่ายตาม (1) พยานบุคคลที่ศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษานั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องกับความจริง (2) พยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานบุคคลตาม (1) ที่ศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษานั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังว่า เป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ถ้านำมาสืบในคดีที่ถึงที่สุดแล้วจะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

ขณะที่มาตรา 6 ระบุผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องไว้ว่าเป็น (1) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ (3) ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด (4) บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง (5) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม

โดยการยื่นคำร้องนั้น มีการกำหนดระยะเวลาไว้ในมาตรา 20 ว่า ให้ยื่นได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามมาตรา 5 หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด แต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษศาลจะรับคำร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้นไว้พิจารณาก็ได้

พท.ขอดูท่าทีภท.ยื่นร่างล้างมลทิน

ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประ ธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงพรรคภูมิใจไทยจะเสนอร่างพ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ว่า ขึ้นอยู่กับครม. จะหยิบยกขึ้นมา และยืนยันมายังสภาภายใน 60 วัน ขณะนี้มีร่างฉบับเดิมค้างอยู่ในสภาอยู่แล้ว แต่หากยกร่างฉบับใหม่ขึ้นมา พรรคภูมิใจไทยจะต้องเสนอไปยังครม.พื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณีส.ส.พรรคภูมิใจไทยเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ล้างมลทินให้แก่ผู้ถูกลงโทษทางวินัยรวมถึงกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงด้วยว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ภาพรวมและหลักการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่ใช่ประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องรอให้พรรคภูมิใจไทยเสนอเข้าสู่สภาและได้ดูในรายละเอียด อีกทั้งต้องหารือกับทุกฝ่าย เช่น กลุ่มคนเสื้อแดงเสียก่อน แต่อะไรที่จะสร้างความปรองดองได้ พรรคก็พร้อม ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรคไม่เคยแอบพูดคุยเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทยมาก่อน

"ปุ"เมินถาวรอ้าง-แนะแม้วสู้คดี

ที่รัฐสภา ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ กล่าวถึงกรณีนายถาวร อ้างเหตุการณ์ยกฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนายสุรินทร์ แสงขำ เมื่อปี 2543 สมัยที่ร.ต.อ.ปุระชัย ดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย และดูแลกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น ว่า จำรายละเอียดที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ในอดีตกฎหมายให้อำนาจ รมว.มหาด ไทย ทำความเห็นกรณีกลุ่มบุคคลถวายฎีกาขออภัยโทษ ซึ่งพิจารณาเป็นรายกรณี โดยกรณีนายสุรินทร์ แสงขำ กระทรวงมหาดไทยเสนอความเห็นยกฎีกา โดยให้เหตุผลว่าหลบหนีคดีไม่สำนึกผิด ซึ่งคดีถึงชั้นศาลฎีกาเป็นที่ยุติได้ว่า กระทำผิดตามฟ้อง และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนที่หลบหนี แสดงให้เห็นว่าไม่สำนึกผิด ข้ออ้างจึงฟังไม่ได้ ไม่มีเหตุผลสนับสนุนให้อภัยโทษจึงเห็นควรยกฎีกา แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐาน เพราะการพิจารณาฎีกาขออภัยโทษต้องพิจารณาเป็นกรณี ซึ่งผลในการอภัยโทษ ขั้นตอนสุดท้ายจะอยู่ที่พระราชอำนาจ

เมื่อถามถึงกลุ่มเสื้อแดงถวายฎีกา ร.ต.อ. ปุระชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ควรกลับมาสู้คดีที่ค้างอยู่ให้จบ เพื่อพิสูจน์ว่าทำงานมาถูกต้อง รอบคอบหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำความผิด วันข้างหน้าจะได้ฟ้องกลับได้ ในฐานะฟ้องเท็จ การมาขึ้นศาลไม่ใช่เรื่องการแพ้ชนะ แต่เป็นการแสดงความเป็นสุภาพชนที่กล้าขึ้นศาล เป็นการเรียกเกียรติและศักดิ์ศรีกลับคืนมา เชื่อว่าพ.ต.ท. ทักษิณ ที่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และจบปริญญาเอกด้านการบริหารงานยุติธรรม (ทางอาญา) รู้กระบวนการดีทุกอย่าง ซึ่งคนที่จบสาขานี้ต้องกล้าสู้ เพราะเราได้รับการหล่อหลอมมาตลอด ดังนั้นขอให้กลับมาสู้คดีเถอะอย่าใช้วิธีพิเศษ คนจบสาขานี้ต้องกล้าสู้ เพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรี เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้แต่นายเนลสัน แมนเดนลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ยังติดคุกไม่รู้กี่คุก จนอายุ 80 กว่าปีถึงได้เป็นผู้นำประเทศ อยากบอกว่าตรงนี้เป็นเรื่องอุดมการณ์และหลักการ

นพดลชู"เหยื่อปฏิวัติ"สวนปุระชัย

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์กรณีร.ต.อ.ปุระชัย ระบุพ.ต.ท.ทักษิณควรกลับมาต่อสู้คดี ว่า ขอบ คุณที่แสดงความคิดเห็น ร.ต.อ.ปุระชัยก็ศึกษาด้านกระบวนการยุติธรรมมาเหมือนกัน ย่อมรู้ว่า การยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการตั้งบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณมาสืบสวนสอบ สวนพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน เสมือนผลไม้เป็นพิษที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ จึงไม่ใช่เรื่องเกียรติยศแต่เป็นเรื่องความถูกต้อง

"พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเหยื่อในการปฏิวัติ การ ถวายฎีกาเป็นเรื่องของประชาชนที่สามารถทำ ได้ และเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นประเด็นว่า พ.ต.ท. ทักษิณจะต้องกลับมาต่อสู้คดีก่อนหรือไม่" นายนพดล กล่าว

เผยไม่มีทีมบ้านพิษณุโลก

นายนพดลยังกล่าวถึงทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุ โลก ว่า ไม่เคยมีตั้งเป็นทางการ ตอนแรกคุยกัน คิดว่าจะตั้งเพื่อทำงานให้คำปรึกษาแก่นายกฯ อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขอข้อมูลข้าราชการเพื่อใช้ประกอบความเห็นเสนอนายกฯ โดยใช้สถานที่ราชการ เช่น บ้านพิษณุโลก ในการหารือกัน แต่มีคณะทำงานบางคนแสดงความเป็นห่วงว่า หากทำเช่นนั้นจะเป็นประเด็นกฎหมายให้ถูกโจมตีได้ จึงไม่แต่งตั้ง แต่เป็นการพูดคุยกันในรูปแบบคณะกรรมการยุทธศาสตร์เหมือนช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่จะให้คำแนะนำบางเรื่องบางประ เด็น ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ มีแต่หน้าที่ที่จะต้องช่วยกันคิดและทำงาน แต่ไม่ถึงขนาดว่าจะต้องเป็นเงาของนายกฯ แต่จะเป็นคลังสมอง คลังความคิดเห็นมากกว่า ก็แล้วแต่นายกฯ จะมอบหมายหรือขอความเห็นมา

เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าหากตั้งเป็นทางการอาจทำให้รัฐบาลถูกโจมตี ทั้งเรื่องค่าตอบแทนและอำนาจหน้าที่สั่งการของคณะทำงานชุดนี้ นาย นพดลกล่าวว่า ไม่ใช่ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย เราทำงานฟรี ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ และคุยกันแล้วว่าจะถูกโจมตีเรื่องนี้ ทุกคนที่ทำงานเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว ไม่ได้ต้องการเงินทองอะไร ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าเราจะนั่งคุยกันว่าจะจัดระบบรูปแบบทำงานอย่างไร แบ่งเรื่องรับผิดชอบตามความถนัดของคณะทำงานแต่ละบุคคล รวมทั้งสถานที่ในการหารือ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชุดนี้เป็นเรื่องระหว่างนายกฯ กับคณะทำงาน ไม่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ

ถาวรโต้อภิวันท์กรณีที่ดินรัชดาฯ

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรมว.ยุติธรรมเงา กล่าวว่า พ.อ.อภิวันท์เข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องข้อกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงกรณีที่ศาลสั่งให้การซื้อขายเป็นโมฆะ เพราะมีสาเหตุมาจากการทำผิดกฎหมาย และเมื่อการซื้อขายไม่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้คู่สัญญาคืนเงินให้กับคุณหญิงพจมาน ส่วนความผิดนั้นยังคงอยู่ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณยังถือว่าต้องได้รับโทษ ประเด็นนี้อยากให้รัฐบาลมาดูเรื่องความสามัคคี ป้องกันความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เพราะมีบางคนให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดมายาคติทางการเมืองที่ผิดๆ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนได้บริโภคข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นประเด็นที่มาของความแตกแยก

นายถาวรกล่าวต่อว่า ตนได้หารือกับร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานพรรครักษ์สันติ ถึงตอนที่ดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย ในเรื่องการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในกรณีที่เกิดขึ้นกับน.ส.อรภา แสงขำ บุตรสาวนายสุรินทร์ แสงขำ นักโทษหนีคดี แต่ร.ต.อ. ปุระชัยปฏิเสธว่าจำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพิจารณาสมัยที่ร.ต.อ.ปุระชัยเป็นรมว. มหาดไทย กระทำด้วยใจที่บริสุทธิ์

เมื่อถามว่าหากไม่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณได้ รัฐบาลอาจ เสนอเป็นพ.ร.ก.นิรโทษกรรมฯ นายถาวรกล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะการจะออกพระราชกำหนดได้นั้น ต้องมีระเบียบและข้อกำหนดที่ชัดเจน เป็นรายกรณีไป เช่น เป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เศรษฐกิจ ไม่ใช่รัฐบาลจะใช้เสียงข้างมากลากไปทางไหนก็ได้

ปชป.หนุนแก้รธน.รื้อเอกสิทธิ์

ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 131 เรื่องการใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองของส.ส.-ส.ว.กรณีตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา โดยระบุว่า จากกรณี 9 ส.ส. พรรคเพื่อไทย และเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ขอสละสิทธิ์ ไม่ขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองเพื่อไปดำเนินคดี แต่ที่ประชุมสภามีมติไม่เห็นด้วย ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเพราะเจ้าตัวเป็นผู้ขอสละสิทธิ์ แต่สภากลับไม่อนุญาต ทั้งที่ผ่านมามีกรณีน.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสง คราม พรรคประชาธิปัตย์ เคยขอสละสิทธิ์ไม่ใช่สิทธิ์คุ้มครองมาแล้ว แต่ที่ประชุมสภาอนุญาต ดังนั้นเพื่อความชัดเจน หากรัฐบาลจะแก้รัฐธรรม นูญขอให้แก้มาตราดังกล่าวด้วย ให้ระบุเพิ่มเติมว่าเมื่อสมาชิกรัฐสภาสมัครใจจะไม่ขอเอกสิทธิ์คุ้มครองแล้ว สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขอมติจากที่ประชุมสภาอีก ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเป็นผู้ดำเนินการ เพราะลำพังฝ่ายค้านคงมีเสียงส.ส.ไม่พอ

นายสาธิตกล่าวกรณีส.ส.พรรคเพื่อไทย จะไปแข่งฟุตบอลกับรัฐบาลกัมพูชาในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ โดยมีรายงานข่าวว่ากัมพูชาจะเชิญพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชาจะมาร่วมด้วยว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะพูดพล่อยๆ ไม่ได้ ถ้าพ.ต.ท. ทักษิณซึ่งเป็นจำเลยหลบหนีหมายจับไปร่วมงานจริง เมื่อส.ส.หรือคนไทยที่ไปพบ มีหน้าที่แจ้งเจ้าพนักงานจับกุม และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ต้องทำหนังสือประสานกัมพูชาเพื่อให้ติดตามตัวกลับมาดำเนินคดี ถ้าไม่ดำเนินการจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ คนไทยที่อยู่ในกัมพูชาช่วยชี้เบาะแสและส่งข้อมูลมายังเจ้าหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุม วิปฝ่ายค้าน ตนจะเสนอให้ตั้งกระทู้ถามรมว.ต่างประเทศในเรื่องนี้



เครือข่ายปชช.จี้สภาเร่งถกกม. 

วันที่ 8 ก.ย. ที่รัฐสภา เครือข่ายประชาชนหลายกลุ่ม อาทิ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง ได้มายื่นหนังสือถึงนาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้รัฐสภาสนับสนุนร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายในรัฐสภา ที่ยังค้างอยู่หลายฉบับเนื่องจากมีการยุบสภา ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยด้วยวิชาชีพการสาธารณสุข ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างพ.ร.บ. บำนาญประชาชน ร่างพ.ร.บ.กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ โดยทางเครือข่ายให้เหตุผลว่ากฎหมายทั้งหมดเข้ากระบวนการสภานานแล้ว บางฉบับรอนายกฯ ลงนามเท่านั้น และทุกฉบับมีความจำเป็นต่อประชาชน และไม่อยากให้กฎหมาย ดังกล่าวตกไป จึงอยากให้ประธานสภาสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามกระบวนการการเสนอกฎหมายของประชาชนเมื่อมีการยุบสภาแล้ว จะทำให้กฎหมายทั้งหมดตกไป แต่เมื่อมีครม.ชุดใหม่ ครม.สามารถหยิบกฎมายที่ค้างอยู่มาพิจารณาและส่งมาให้สภาดำเนินการต่อได้ แต่หากไม่ได้ส่งมายังสภากฎหมายก็จะตกไป เรื่องนี้จะพิจารณาตามกระบวนการ



สภาแบ่งเค้กประธานกมธ.ล่มอีก

วันที่ 8 ก.ย. ที่รัฐสภา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานประชุมตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อจัดสรรตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ทั้งนี้ นายเจริญ เสนอต่อที่ประชุม ขอเป็นตัวกลางเจรจาเรื่องนี้ โดยขอเวลา 1 สัปดาห์เพื่อให้ตัวแทนของพรรคเล็กและพรรคเพื่อไทยมาหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการจัดสรรตำแหน่งก่อนนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ต่อไป

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การที่หัวหน้าพรรค 3 พรรค ได้แก่ พรรครักประเทศไทย พรรครักษ์สันติ และพรรคมาตุภูมิ รวมทั้งพรรคภูมิใจไทยเสนอให้นายเจริญ พิจารณา ไม่ได้ทำโดยไม่มีเหตุผลและกฎหมายรองรับ เพราะดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 85 วรรค 3 ที่ระบุการจัดสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ต้องคำนึงถึงอัตราส่วนของส.ส.แต่ละพรรคและกลุ่มพรรคที่มีอยู่ในสภา ดังนั้น การเสนอให้พรรคขนาดเล็กมารวมเสียงกับพรรคภูมิใจไทย เป็นกลุ่มพรรค สามารถกระทำได้เพื่อเปิดให้พรรคเล็กมีตำแหน่งประธานกรรมาธิการ และถ้าพรรคเพื่อไทย มีมติแบบนี้ ก็เห็นว่าไม่เหมาะสมจึงจะขอออกจากห้องประชุม

ด้านนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภาเยอะกว่าทุกพรรค ควรแสดงความเป็นพี่ใหญ่ โดยให้ตำแหน่งเพื่อให้พรรคเล็กมีส่วนร่วมทำงานในสภา การอ้างว่าต้องเร่งตั้งกรรมาธิการเพื่อใช้งบประมาณนั้น เป็นเหตุผลฟังไม่ขึ้น ทางที่ดีสภาควรตั้งกรรมาธิการให้สำเร็จโดยผ่านข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเร่งรัด สภาชุดที่แล้วเคยตั้งล่าช้าถึง 3-4 เดือน ถ้าครั้งนี้จะล่าช้าไปบ้างเพื่อให้เกิดความเห็นร่วมกัน ไม่น่าเป็นอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวยังหาข้อยุติไม่ได้เช่นเดิม โดยพรรคภูมิใจไทยได้วอล์กเอาต์จากห้องประชุม



ปูส่ง"กสทช."ให้เลขาครม.ตรวจ

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับไว้พิจารณาเป็นคดีพิเศษว่า มอบให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีศึกษาขั้นตอนของกฎหมายและเร่งทำให้ถูกขั้นตอนต่อไป ตนมีหน้าที่นำรายชื่อส่งไป แต่ถ้ามีเรื่องการตรวจสอบเข้ามาก็ต้องหารือในเชิงข้อกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ดีเอสไอสอบสวนมานานแล้ว เพียงแต่วันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ชุดสืบสวนรายงานว่าควรรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษอยู่ในที่ประชุมทั้ง 17 คน ต่างเห็นด้วยทั้งหมด จึงอนุมัติให้ดีเอสไอสอบสวนได้ ส่วนที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะต้องการเอาใจรัฐบาลนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เป็นคนละเรื่อง งานสอบสวนมีการดำเนินไปแล้วในระดับหนึ่ง และเป็นช่วงที่รัฐบาลนี้เข้ามาพอดี เราไม่จำเป็นต้องเอาข้าราชการทุกสาขาอาชีพมาเป็นพรรคพวก

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด ต้องดูว่าข้อกฎหมายระบุไว้อย่างไร เมื่อถามว่าถ้ารัฐบาลชะลอนำรายชื่อทั้ง 11 คน ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ววุฒิสภาออกมาคัดค้าน จะเป็นปัญหาระหว่าง 2 สภาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เรื่องดังกล่าว ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว และต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าเป็นเรื่องบังควรหรือไม่ ซึ่งตนไม่อยากเข้าไปก้าวล่วง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากนายกฯ ไม่นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องมีคำอธิบาย เมื่อวุฒิสภาคัดเลือกเสร็จแล้ว ต้องเลือกประธาน รองประธาน และแจ้งให้นายกฯ ทราบภายใน 15 วัน และให้นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีความไม่ชอบมาพากลที่ดีเอสไอรับเรื่องกสทช. ไม่โปร่งใสเอาไว้เป็นคดีพิเศษ ใน 3 ประเด็น คือ 1.ดีเอสไอมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เพราะนายพิชา วิจิตรศิลป์ ผู้ร้องเคยร้องให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลาออกจากองคมนตรี และศาลปกครองพิจารณาแล้วว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบ แต่ดีเอสไอกลับพิจารณา 2.มีการตั้งธงชะลอการทูลเกล้าฯ หวังล้มกระบวนการสรรหา 3.มีผลประโยชน์อะไรจากกลุ่มทุนที่เข้ามาเคลื่อนไหวผ่านกลุ่มการเมืองหรือไม่

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. ว่าที่กสทช. กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นเลขาธิการกกต.แล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 18 ก.ย.นี้ สำหรับการทูลเกล้าฯรายชื่อกฎหมายเขียนให้นายกฯ ทำ 2 อย่างคือ 1.ให้ทราบเรื่องที่ กสทช.ทั้ง 11 คน เลือกใครเป็นประธาน และ 2.ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เมื่อกฎหมายไม่เปิดให้นายกฯใช้ดุลยพินิจถ้าไปใช้ดุลยพินิจก็เข้าข่ายก้าวล่วงพระราชอำนาจ และเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นายกฯน่าจะมีทีมกฎหมายที่ดูแลและทำความเข้าใจในเรื่องของการทูลเกล้าฯ ให้ถูกต้อง และดำเนินการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเร็ว ที่ดีเอสไอบอกว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบต้องสรรหาใหม่ ผู้มีอำนาจจะยกเลิกกระบวนการสรรหาได้นั้นก็คือศาลปกครอง



บิ๊กอ๊อดยันโยกย้ายไม่ขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่สโมสรทหารบก พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะยื่นกฤษฎีกาตีความอำนาจรมว.กลาโหมในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารว่า ยังไม่ได้ยื่นแต่ต่อไปต้องทำ เพราะจะเป็นการตีกรอบความถูกต้องสิทธิอำนาจของรมว.กลาโหมคนต่อไป ใครก็ตามที่จะมาเป็น จะได้มีสิทธิแก้ไข ดำเนินการให้เขา ไม่ใช่ว่าผ่านไปแล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรให้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นที่แคลงใจสงสัย คงต้องทำต่อไป

เมื่อถามว่าจะตีความมาตราใดบ้าง พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก แต่พูดวันนี้ไม่ได้ มีหลายจุดที่ต้องพิจารณา เมื่อถามย้ำว่าใช่มาตรา 10 กับ 24 หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า มีหลายข้อในกฎของกระทรวง เมื่อถามถึงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมที่อาจมีปัญหา พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า สื่อไปเขียนกันเอง ทำให้เกิดความไม่สบายใจกับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และผบ.เหล่าทัพ ทุกคนไม่สบายใจที่บอกว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับตน แต่ความจริงแล้วไม่มี ยืนยันด้วยความสัตย์จริง ทั้งนี้ ตำแหน่งปลัดกระทรวงนั้นเรียบร้อยไปตั้งนานแล้ว

"วันนี้ ผบ.ทบ.โทร.มาหาผมว่าอ่านเอกสารจากข่าวแล้ว ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ท่านบอกว่าไม่เห็นมีอะไรขัดแย้งกันเลย เราเห็นดีร่วมกัน การโหวตก็ไม่มี ยืนยันว่าทุกท่านไม่มีความแตกแยกในความคิด ตั้งแต่ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. เรามีความคิดร่วมกันเป็นเอกฉันท์ ทุกอย่างลงตัว" พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าว

รมว.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ทราบว่าขั้นตอนถึงไหนแล้ว ตนไม่ได้ถือเอกสาร หลังจากลงนามแล้วก็มอบให้กับพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เจ้ากรมเสมียนตรา เป็นผู้ถือและนำไปให้ปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อให้นำเรียนนายกฯ ต่อไป

0 comments:

Post a Comment

Blog Archive

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Grants For Single Moms