Links

...

กทม.ไม่ท่วม มท.1ย้ำ-ผันน้ำได้, Asia News, Thai , news,



ชัยนาท3พ่อลูกเรือล่มดับ ในหลวงรับสั่งเขื่อนขุนด่าน แก้น้ำท่วมภาคกลางได้ดี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ พร้อมคณะ เฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ร.พ.ศิริราช เมื่อวันที่ 19 ก.ย.
"ภาคกลาง" ยังอ่วมพิษน้ำท่วม ยอดตายทะลุ 112 ศพแล้ว ปภ.แจงคืบหน้าสำรวจข้อมูลจ่ายเงินช่วยเหลือ หลังละ 5 พัน จาก 34 จว. 175,088 ครัวเรือน ตรวจสอบได้แล้ว 107,122 หลัง คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายกว่า 500 ล. ยังเหลืออัก 67,966 ครัวเรือน "ยงยุทธ" มั่นใจน้ำไม่ท่วมกทม. ขอให้คนกรุงสบายใจได้ "สิงห์บุรี-ลพบุรี-อยุธยา" ยังมิด สลดเมือง"ชัยนาท" 3 พ่อลูกเรือล่มจมน้ำดับ "อ่างทอง" ท่วมบ้านลิเกไชยา ในหลวงทรงห่วงภัยน้ำท่วม หลายจว.ต้องการโครงการชลประทาน

ในหลวงทรงห่วงน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกรมชลประ ทาน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อกราบทูลรายงาน และรับฟังกระแสพระราชดำรัส ในการจัดการบริหารน้ำอย่างต่อเนื่อง ใน 5 โครงการ อันได้แก่ โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล โครง การพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กราบบังคมทูลเชิญเพื่อเปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทั้ง 5 แห่ง ดังกล่าวด้วย

5โครงการมีประโยชน์

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม ใจความว่า โครงการจัดการน้ำในโครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการชลประทานในภาคกลางหลายจังหวัด และเป็นโครงการที่ไม่เหมือนโครงการอื่น ซึ่งเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภาคกลาง ซึ่งโครงการนี้สร้างยากมาก เพราะมีสถานที่การก่อสร้างจำกัด และนอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อกรุงเทพมหานคร ที่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้

26 จว.อ่วมบ้านจม-ถนนขาด

นายประทีป กีรติเรขา รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 26 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ยโสธร เลย ขอนแก่น มหาสาร คาม ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา นครนายก ตาก สระแก้ว และปราจีนบุรี รวม 171 อำเภอ 1,164 ตำบล 7,688 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 471,007 ครัวเรือน 1,568,935 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 112 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 4,192,131 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย บ่อปลา 54,852 ไร่ กุ้ง/ปู/หอย 560 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 3,954,046 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 21 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 74 สาย ใน 21 จังหวัด

เฝ้าระวัง 8 จังหวัดภาคกลาง

นายประทีป กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอกบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอสตึก อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัด ร้อยเอ็ด ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ลุ่มน้ำโขง ที่อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ลุ่มน้ำท่าจีน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนคร สวรรค์ 3,935 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,706 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุม ธานี และนนทบุรี

เร่งระบายน้ำในเขื่อนใหญ่

นายประทีปกล่าวอีกว่า ในส่วนของสถาน การณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 88 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 96 ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำมากเกินความจุร้อยละ 102 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณมากเกินความจุร้อยละ 109 ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ ส่วนกรุงเทพมหานคร พื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำบริเวณเขตมีนบุรี หนอง จอก และเขตลาดกระบัง ยังมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

20-23 ก.ย.เหนือ-กลางมีฝนชุก

นายประทีปกล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศ พบว่าจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย.นี้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนบนของประเทศระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนคร ศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ เนื่องจากระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ก.ย. ร่องมรสุมอาจเคลื่อนตัวผ่านและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและจังหวัดโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบกับแหล่งน้ำของชลประทานในพื้นที่มีระดับเก็บกักสูงอยู่แล้ว จึงขอให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณ ภัยจังหวัด โครงการชลประทานจังหวัด สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทุกวัน 

ยังหนัก - พายุฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันย่านใจกลางธุรกิจ เขตเทศบาลเมืองหนอง คาย รถเล็กสัญจรไปมาไม่ได้ ต้องเร่งสูบน้ำระบายลงสู่แม่น้ำโขงโดยด่วน เมื่อวันที่ 19 ก.ย.


ปภ.ทยอยจ่าย 5 พันช่วยชาวบ้าน

ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 34 จังหวัด รวม 175,088 ครัวเรือน เป็นเงิน 875,440,000 บาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยงานกลางในการประ สาน รวบรวม และตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้จัดส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 107,122 ครัวเรือน เป็นเงิน 535,610,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.18 คงเหลือข้อมูลครัวเรือนที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 67,966 ครัวเรือน เป็นเงิน 339,830,000 บาท สำหรับจังหวัดที่ได้จัดส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว ก็ขอให้พิจารณานำเรียนรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ในพื้นที่ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ส่วนจังหวัดที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอตรวจสอบข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรวบรวมจัดส่งให้ธนาคารออมสินดำเนินการจ่ายเงินแก่ผู้ประสบภัยตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

รับเงินได้ที่ธ.ออมสิน

นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า ผู้ประสบภัยที่ได้รับเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท ต้องเตรียมเอกสารประกอบการรับเงิน ดังนี้ กรณีรับเงินด้วยตนเอง ให้นำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงไปแสดงและลงลายมือชื่อรับเงิน ต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน กรณีไม่สามารถมารับเงินได้ด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือมอบฉันทะและบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มอบและผู้รับมอบ โดยผู้ที่รับมอบฉันทะไม่สามารถมอบฉันทะต่อได้ กรณีไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือได้ตามวันที่กำหนด ให้ไปยื่นขอรับเงินช่วยเหลือได้ ณ ที่ทำการธนาคารออมสินในวันและเวลาทำการ

ปูนใหญ่ช่วยน้ำท่วม 20 ล.

เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ระหว่างการเป็นประธานเปิดงาน "Thailand Sustainable Development Symposium 2011" นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มอบเงิน 20 ล้านบาท เพื่อสมทบเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ของสำนักนายกรัฐมนตรี ให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และตัวแทนจากชมรมแก้ปัญหาหนี้แห่งชาติ นำโดยนางอรพรรณ ธนะโสธร มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 5 พันบาท เพื่อให้นายกฯ นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย โดยระหว่างนั้นนางอรพรรณ กล่าวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า "ถือเป็นก้าวแรกของท่าน ตอนนี้ประชาชนชื่นชมมาก" ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า จะพยายามทำให้ดีที่สุด

"ปู"กำชับผู้ว่าฯเร่งช่วยเหลือ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยในบางพื้นที่ เช่นที่ จ.ชัยนาท ไม่มีภาครัฐเข้าไปดูแล แม้แต่ข้าวเช้าก็ยังไม่มีกิน ว่า มีคนเข้าไปดูแลแล้ว โดยตนกำชับผู้ว่าฯ ให้ลงพื้นที่แล้ว และยังมีกำลังพลจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ตำรวจ และกระทรวงมหาดไทย ได้ระดมกันลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว

เมื่อถามว่า หลายพื้นที่ยังวิกฤตอยู่ จะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะคันกั้นน้ำที่พังลง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องเรียนประชาชนว่าเรื่องนี้เป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงจริงๆ และหนักมาก ต้องเร่งเสริมแนวคันกั้นน้ำ เพราะบางพื้นที่น้ำแรงมาก วันนี้เราระดมคนเข้าไปดูประชาชนอย่างเต็มที่ และในวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ลงไปดูพื้นที่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือให้อีกทางหนึ่ง เชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังรับมือได้ ปัญหาที่เกิดเป็นแค่บางพื้นที่ แต่พื้นที่อื่นๆ เราได้วางแผนล่วงหน้าไว้หมดแล้ว

"ประยุทธ์"นำทัพลุยอุตรดิตถ์

เวลา 07.30 น. ที่กองการบินกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับประชา ชนผู้ประสบอุทกภัยใน จ.อุตรดิตถ์ ว่า วันนี้จะเข้าไปดูในพื้นที่อุตรดิตถ์ ในการแก้ปัญหาของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งได้รับรายงานว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 750 ครัวเรือน มีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดินภูเขาสไลด์ลงมาทับบ้านเรือน ที่ผ่านมา การช่วยเหลือของกองทัพภาคที่ 3 โดยจังหวัดทหารบกอุตร ดิตถ์ ได้จัดกำลังพลช่วยเหลือและฟื้นฟู ช่วงแรกสำรวจความสูญเสียทั้งหมด และร่วมมือกันระหว่างทหารพัฒนา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด และดูแลการสัญจรไปมา การซ่อมถนน สะพานชั่วคราวเพื่อให้เดินทางสะดวก ส่วนบ้าน ทำทั้งหลังประมาณ 35 ครอบครัว และซ่อมอีก 30 ครอบครัว จะเข้าไปซ่อมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยพาเจ้ากรมการทหารช่างเข้าไปในพื้นที่ด้วย เพื่อดูแลเรื่องยุทโธปกรณ์ว่ามีพอหรือไม่

"การใช้กำลังทหารเข้าไปดูแลในทั้ง 3 ลักษณะ คือการป้องกันในพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และการฟื้นฟู ในพื้นที่ที่น้ำลดระดับแล้ว แต่ทั้งหมดไม่ใช่ว่าทหารจะเข้าไปดูแลฝ่ายเดียว ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน กำลังทหารมีอยู่จำกัด แต่พื้นที่น้ำท่วมมีบริเวณกว้าง ทางกองทัพพยายามดูแลทุกพื้นที่ให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

มท.1 ยัน-กทม.ไม่กระทบ

ด้านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไปลงเรือตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ซึ่งจากการหารือแผนงาน การตรวจสอบมวลน้ำจนถึงแผนเผชิญเหตุและการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มั่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่ส่งผลกระทบกับกทม. ขอให้ประชาชนอุ่นใจได้

"อยุธยา"เตรียมรับน้ำเพิ่ม 

ที่จ.พระนครศรีอยุธยา นายไมตรี ปิตินานนท์ ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดพระ นครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำเหนือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีปริมาณน้ำมากที่จะไหลลงมาสู่แม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี โดยขณะนี้น้ำได้ท่วมพื้นที่ อ.ท่าวุ้ง อ.เมือง และ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ซึ่งน้ำทั้งหมดจะไหลลงแม่น้ำลพบุรี ผ่านพื้นที่ อ.บ้านแพรก อ.มหาราช อ.บางปะ หัน ที่มีน้ำท่วมสูงอยู่แล้ว ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก และน้ำจะกระจายเข้าทุ่งมหาราช เข้าทุ่งบางปะ หัน ท่วมพื้นที่นาปรัง กว่า 30,000 ไร่ นอกจากนี้ น้ำจากแม่น้ำลพบุรี ยังจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน ระดับน้ำจะสูงขึ้น จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเร่งเก็บของเอาไว้ที่สูง

ปทุมฯสั่งเสริมแนวกั้น

จ.ปทุมธานี นายเดชา กลิ่นกุสุม รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต เปิดเผยว่า ได้นำเจ้าหน้าที่เทศบาล และ อปพร.ออกช่วยกันนำกระสอบทรายตั้งแนวคันกั้นน้ำริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่มีน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาตามคลองรังสิตประยูรศักดิ์ถึงประตูน้ำจุฬาลง กรณ์ พื้นที่ตำบลประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุม ธานี โดยทางเทศบาลได้ตั้งคันแนวกั้นน้ำสูงอยู่ที่ 1.50 เมตร เพื่อรอรองรับมวลน้ำจากเหนือที่ยังไหลมาถึงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ ถ้าปริมาณระดับน้ำไกล้เคียงกับปี 38 ในช่วงนี้ ก็จะเสริมแนวกั้นเพิ่มขึ้นอีก 1.00 เมตร ขณะนี้ได้ร่วมกับชลประทานรังสิต ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟ ฟ้าขนาดท่อ 32 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และโรงสูบน้ำของชล ประทานอีก 12 เครื่อง สูบน้ำจากพื้นที่ชั้นในของคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่ได้รับน้ำมาจากอำเภอคลองหลวง อำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา และอำเภอธัญบุรี ซึ่งน้ำจากคลองซอยต่างๆ ตั้งแต่คลองหนึ่ง ตลอดจนไปถึงเขตอำเภอองครักษ์ จ.นครนายก ได้เปิดประตูน้ำคลองซอยออกสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ จึงต้องสูบน้ำจากประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ตลอด 24 ชั่ว โมง เพื่อป้องกันพื้นที่ชั้นในที่มีหมู่บ้านหลายหมื่นหลังไร่นาสวนผสมอีกจำนวนมาก และยังช่วยป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมถึงพื้นที่ของกรุงเทพฯอีกด้วย ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์จึงถือว่าเป็นจุดที่ป้องกันน้ำเข้าท่วมอย่างเต็มที่

"ชัยนาท"สลดพ่อลูกดับ3ศพ

ที่จ.ชัยนาท กลางดึกวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.วิวอน บุญคงมา สารวัตรเวร สภ.เมืองชัยนาท รับแจ้งมีเหตุคนจมน้ำ 3 ราย ในแม่น้ำท่าจีน ท้องที่ หมู่ 13 ต.นางลือ อ.เมืองชัยนาท จึงแจ้งมูลนิธิร่วมกตัญญู เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่าที่น้ำในแม่น้ำท่าจีนไหลเชี่ยวมาก จึงขอกำลังชุดประดาน้ำจากจังหวัดนครนายก สระบุรี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา ลงงมหา กระทั่งพบร่างผู้เสียชีวิตในคืนต่อเนื่องวันที่ 19 ก.ย. ประกอบด้วยศพของนายมานพ คุ่ยจาด อายุ 38 ปี ด.ญ.พรชนก คุ่ยจาด อายุ 11 ขวบ และ ด.ญ.จิราภา คุ่ยจาด อายุ 9 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 169 หมู่ 13 ต.นางลือ อ.เมือง จ.ชัยนาท ทั้ง 3 เป็นพ่อลูกกัน

จากการสอบสวนทราบว่า ทั้งสามคนใช้เรือเหล็ก ลงเก็บปลาทับทิมที่ตายลอยตามน้ำมา ซึ่งชาวกระชังปลาได้ปล่อยทิ้งหลังน้ำเสียปลาตายตลอดสายแม่น้ำท่าจีน พ่อนั่งกลาง ลูกสาวทั้งสองนั่งหัวเรือคนละข้าง เก็บปลาใกล้เต็มเรือ ขณะที่กระแสน้ำที่ไหลแรงจึงทำให้เรือเสียการทรงตัวจมลง พ่อว่ายน้ำเป็นแต่ลูกสาวคนหนึ่งกอดคอไว้ ทั้งสามคนได้จมน้ำหายไป จึงแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ

"สิงห์บุรี"น้ำยังสูงต่อเนื่อง

ที่จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำยังคงสูงต่อเนื่อง โดยที่ศาลากลางสิงห์บุรี น้ำได้ท่วมบริเวณถนนศาลากลางจังหวัดและศูนย์ราชการสูงประมาณ 15 เซนติเมตร สาเหตุเกิดจากการท่วมขังของน้ำฝนที่ตกทั้งวันเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทางจังหวัดได้ตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่องเพื่อสูบน้ำออก นอกจากนี้ ในการป้องกันอื่นๆ ได้ทำคันดินสูงประมาณ 1 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ศูนย์ราชการและศาลากลางจังหวัดเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจจะพังเข้ามาเมื่อไรก็ได้ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้มาติดต่อราชการต้องนำรถไปจอดบริเวณถนนหน้าศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี เพราะเกรงว่าหากเกิดเหตุจะนำรถออกนอกพื้นที่ไม่ทัน

เวลา 11.00 น. วันเดียวกันนี้ ร.ต.ต.อภิเดช อธิคมสัญญา ร้อยเวร สภ.อินทร์บุรี รับแจ้งมีผู้เสียชีวิต ที่บริเวณ หมู่ 8 ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์ บุรี จ.สิงห์บุรี จึงรุดไปสอบสวน ญาติๆ ช่วยกันงมศพขึ้นมา ทราบชื่อนายสุเทพ จินตะสุวรรณ์ อายุ 60 ปี จากการสอบสวนทราบว่านายสุเทพ ออกมาซื้ออาหารแล้วกำลังจะกลับบ้านต้องพายเรือเข้าบ้านเพราะน้ำท่วมสูง น้ำไหลแรงทำให้เรือล่มเสียชีวิต

ที่จ.สุพรรณบุรี ที่ร้านดาราเลขที่ 800 ตำบลท่าพี่เลี้ยง เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี มีนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี ร่วมกันวาดภาพที่กำแพงปูนที่ก่อไว้เพื่อกั้นน้ำ เพื่อเป็นการคลายเครียดให้กับคนสุพรรณฯ ที่กำลังประสบอุทกภัยน้ำท่วม ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

"อ่างทอง"น้ำท่วมบ้านลิเกไชยา

ที่อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้แม่น้ำน้อยยังท่วมสูงอย่างต่อเนื่อง ไหลทะลักเข้าท่วมโรงเรียนวิเศษไชยชาญ ตันติวิทยาภูมิ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอวิเศษชัย ชาญ นายประสงค์ กลัดแก้ว ผอ.ร.ร.วิเศษไชยชาญฯ จึงมีคำสั่งด่วนปิดโรงเรียน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-25 ก.ย. นอกจากนั้น น้ำยังไหลเข้าท่วมอนุสรณ์สถานนายดอกนายทองแก้ว ที่บริเวณวัดวิเศษชัยชาญ และ อนุสรณ์สถานขุนรองปลัดชูที่วัดสี่ร้อย ซึ่งทั้งหมดเป็นนักรบชาววิเศษชัยชาญที่เข้าทำศึกในสงครามบางระจัน ระดับน้ำที่สูงอย่างต่อเนื่อง น้ำได้ไหลล้นถนนสายเสนาท่าช้างลงสู่ทุ่งนาและเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอีกหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะบ้านพระเอกลิเกชื่อดัง "ไชยา มิตรชัย" ที่น้ำเริ่มไหลเข้าบ้านแล้วคนงานต่างเก็บของที่จำเป็นขึ้นที่สูง

พระราชทานสิ่งของช่วยเหลือ

เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ อ.เมืองอ่างทอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมอบให้นายประวิทย์ หาญณรงค์ รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะ เดินทางมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในท้องที่จังหวัดอ่างทอง รวมจำนวน 1,000 ครอบครัว คิดเป็นมูลค่าสิ่งของสงเคราะห์ทั้งสิ้น 698,121.60 บาท โดยมีนายปัญญา งามเลิศ รอง ผู้ว่าฯ อ่างทอง นายสมชาย อะนุวัชกุล นายอำเภอเมืองอ่างทองให้การต้อนรับ

ในหลวงทรงห่วงใยประชาชน

นายปัญญา กล่าวว่า จังหวัดอ่างทองได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ทุกอำเภอ โดยในขณะนี้มีราษฎรของอำเภอเมืองอ่างทองที่ประสบอุทกภัยได้รับความเดือดร้อนคลุมพื้นที่ 14 ตำบล 2,418 ครอบครัว จำนวน 7,385 คน จังหวัดได้พิจารณาราษฎรพื้นที่ประสบภัยที่เดือดร้อนที่สุด มีตำบลบ้านอิฐ เทศบาลเมืองอ่างทอง(ตำบลบางแก้ว) เทศบาลตำบลโพสะและตำบลย่านซื่อ จำนวน 1,000 ครอบครัว มารับถุงยังชีพพระราชทาน

ด้านนายประวิทย์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบความเดือดร้อน ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาซึ่งจังหวัดอ่างทองได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงพระราชทานถุงยังชีพเป็นเครื่องอุปโภค บริโภค มามอบให้แก่ราษฎรในจังหวัดอ่างทองเพื่อบรร เทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ราษฎรเพื่อต่อสู้ชีวิตไม่ท้อถอยที่ต้องประสบอุทกภัย

"นครสวรรค์"พนังพังรอบ 3

จ.นครสวรรค์ สายวันเดียวกัน เกิดแนวพนังกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาพังลงมาอีก ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักเข้าท่วมห่างจากจุดเดิมบริเวณหลังโรงแรมเป็นหนึ่ง ถนนสวรรค์วิถี ซึ่งเคยพังมาแล้ว 2 ครั้ง ถือเป็นการพังครั้งที่ 3 ในเทศบาลนครนครสวรรค์

โดยนายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากแนวดินข้างล่างอ่อน เมื่อมีการวางกระสอบทราย เกิดทรุดตัวจากแรงดันของน้ำ ทำให้กระสอบทรายพัง แต่ได้อุดรอยรั่ว และเสริมกระสอบทราย วางเสาเข็มเพิ่มขึ้นอีก ส่วนปริมาณน้ำที่มาผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงสุด ซึ่งคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาอีก ระดับน้ำจะทรงตัวอยู่ประมาณ 2-3 วันแล้วจะลดระดับลง นอกจากนี้ น้ำจากแม่น้ำปิงยังล้นขึ้นมาท่วมถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 117 นคร สวรรค์-พิษณุโลก ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ระยะทางประมาณ 10 ก.ม. ช่วงระหว่าง ก.ม.7-16 น้ำท่วมผิวจราจรสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งแขวงการทางนครสวรรค์ที่ 1 แก้ปัญหาโดยให้รถวิ่งสวนกันได้ในเส้นทางเดียวกันบนถนนสายขาล่อง ช่วง ก.ม.8+700-ก.ม.11 ซึ่งบนถนนสายขาล่องมีบางช่วงที่น้ำท่วมถนนและบางช่วงมีน้ำปริ่มทั้งสองข้างถนน ดังนั้นขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังด้วยในการเดินทาง

"ลพบุรี"ประสบภัยทั้งจังหวัด

จ.ลพบุรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดลพบุรีประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ว 11 อำเภอ 100 ตำบล 799 หมู่บ้าน 59 ชุมชน ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี โคกสำโรง บ้านหมี่ หนองม่วง ท่าวุ้ง พัฒนานิคม สระโบสถ์ ลำสนธิ ท่าหลวง และอำเภอชัยบาดาล ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลพบุรีทุกอำเภอ มีผู้ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 27,571 ครัวเรือน 43,268 คน เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ นายอนันต์ แสนอภัย อายุ 50 ปี สาเหตุจมน้ำขณะออกไปหาปลา และนายพรม เนียมงาม อายุ 76 ปี เสียชีวิตเนื่องจากเป็นลม

ด้านการเกษตร พื้นที่นาเสียหาย 20,300 ไร่ พืชไร่ 37 ไร่ และพืชสวน 1 ไร่ ด้านปศุสัตว์ และประมง มีบ่อปลา 36 บ่อ หญ้าเลี้ยงสัตว์ 17 ไร่ ในส่วนของด้านสาธารณประโยชน์ มีถนนเสียหา 78 สาย สะพาน 1 แห่ง วัด 64 วัด และโรงเรียน 17 แห่ง และขณะนี้เส้นทางถนนสายพหลโยธินขาเข้าและออกจากลพบุรีสามารถเดินทางได้เป็นปกติแล้ว

บ.บุญรอดมอบน้ำดื่ม-เงินช่วย

เวลา 12.30 น. ที่วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในการปล่อยขบวนรถเพื่อนำสิ่ง ของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงพระภิกษุ ที่ไม่สามารถออกบิณฑบาตได้เนื่องจากประสบภัยน้ำท่วม ในการนี้ นายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ได้มอบสิ่งของประกอบด้วย ข้าวสาร 27 ตัน น้ำดื่ม 350,000 ลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วยเหลือวัดและชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย พร้อมกันนี้ ยังได้บริจาคเงินจำนวน 1,000,000 บาท ถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพื่อให้นำไปช่วยเหลือพระสงฆ์ โดยน.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบ

สำหรับเครื่องอุปโภคบริโภคในครั้งนี้ เบื้องต้นจะนำไปถวายวัดใน 10 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ รวมจำนวน 553 วัด

ของบฯ 27 ล.ช่วยพระ-วัด

น.พ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นสำนักพุทธฯ ได้นำเงินไปถวายให้กับวัดที่ประสบอุทกภัย และไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ วัดละ 5,000 บาท รวม 972 วัด ขณะเดียวกันในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 ก.ย. ตนจะเสนอขอเงินทดรองราชการจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 27 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือพระสงฆ์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ สำหรับจำนวนวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 1,081 วัด จาก 21 จังหวัด มีพระภิกษุ สามเณร ได้รับความเดือดร้อน 10,922 รูป โดยสำนักพุทธฯ จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือจนกว่าสถาน การณ์จะคลี่คลาย

0 comments:

Post a Comment

Blog Archive

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Grants For Single Moms