Links

...

เลือกตั้ง เรื่องควรรู้ สำหรับการเลือกตั้ง

554000007386901 300x178 เลือกตั้ง เรื่องควรรู้ สำหรับการเลือกตั้ง


3 กรกฎาคม 2554 นี้ ก็เป็นอีกครั้งสำหรับประชาชนชาวไทย ที่จะได้ออกไปแสดงสิทธิ ในการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งก่อนถึงเวลานั้น ก็ควรได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาด จะได้ไม่เสียสิทธิอันพึงมี


ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


1.ผู้มีสัญชาติไทย (ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง
3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
4.ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
◦เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
◦อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
◦ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
◦วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ


การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า


ในเขตเลือกตั้ง


ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านตามทะเบียนบ้าน ที่ต้องเดินทางออกนอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันเลือกตั้ง ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า ได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยต้องยื่นคำขอลงทะเบียนนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ถามวันเวลาที่กำหนด


ระยะเวลาการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง
ตั้งแต่วันที่ 13-17 มิถุนายน 2554 ณ ที่ว่าการอำเภอ และ ที่ทำการทะเบียนท้องถิ่น โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ / นายทะเบียนท้องถิ่น ก็คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตของ กทม. นายอำเภอ หรือปลัดเทศบาล


วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง
วันที่ 26 มิถุนายน 2554 เวลา 08.00 – 15.00 น.
ณ สถานที่เลือกตั้งกลาง


นอกเขตจังหวัด


ผู้ประสงค์ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดจะต้องทำอย่างไร?


ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับที่ผู้นั้นมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง (เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาใหม่) ไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลาง ของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ แต่ต้องยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2554 สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้วโดยไม่ได้ขอเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนน ก็สามารถไปขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามวันเวลาที่กำหนดได้เลย


การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด


วันเลือกตั้งล่วงหน้า : วันที่ 26 มิถุนายน 2554 เวลา 08.00-15.00 น.
สถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า : ณ ที่เลือกตั้งกลางของแต่ละจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มีทุกสำนักงานเขต


เอกสารที่ต้องเตรียมยื่นลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด


1.คำขอลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด (แบบ ส.ส. 42) – ขอรับได้ที่ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งหรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือ Download จากหมวดแบบฟอร์ม
2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
หมายเหตุ สามารถยื่นรวมกันเป็นกลุ่มได้ โดยใช้คำแบบ ส.ส.42/ก หรือทำเป็นหนังสือที่มี ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง และจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อย กว่า 90 วัน


วิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด วิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด


ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่น ก็คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตของ กทม. นายอำเภอ หรือปลัดเทศบาล โดยมีวิธีการยื่น 3 ทาง คือ


1.ยื่นด้วยตนเอง
2.ทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นดำเนินการแทน
3.ส่งทางไปรษณีย์ (ดูตราประทับต้นทางเป็นสำคัญ)
ระยะเวลาในการลงทะเบียน
วันที่ 19 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2554


การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร


ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ต่างประเทศ ต้องขอลงทะเบียนใช้สิทธินอกราชอาณาจักรก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน (ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2554) และไปลงคะแนนล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 17 – 26 มิถุนยาน 2554 ณ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลหรือลงคะแนนทางไปรษณีย์นั้น ตามที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลกำหนด


การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ


ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งที่ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน (12 มิถุนายน 2554) และจากหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งถึงเจ้าบ้าน (17 มิถุนายน 2554)
กรณีชื่อตนเองหายไปหรือมีชื่อบุคคลอื่นเกินมาในบัญชีรายชื่อ ให้แจ้ง เพิ่มชื่อ-ถอนชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน (ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2554)


วิธีการและขั้นตอนการลงคะแนน


เตรียมตัวก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.
1.ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติผลงานคุณงามความดีของผู้สมัครและ พรรคการเมือง
2.เตรียมตัวให้พร้อม โดยตรวจสอบว่ามีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเขต เลือกตั้งไหน ต้องไปใช้สิทธิ ณ ที่เลือกตั้งใด หากลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดไว้ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดของจังหวัดที่ตนลงทะเบียน ในวันที่ 26 มิถุนายน 2554 เท่านั้น (ผู้นี้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ได้)
3.เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนเอาไว้ให้พร้อม
4.ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตที่หน่วยเลือกตั้ง ที่ท่านมีชื่ออยู่ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ในวันเลือกตั้ง (3 กรกฏาคม 2554)


หลักฐานใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง


1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุก็ใช้ได้
2.บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย และมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของผู้ถือบัตร เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)


ก่อนตัดสินใจกากบาท x ลงคะแนน จะพิจารณาอย่างไร?
ส.ส.แบบแบ่งเขต เลือกคนที่รัก คนเดียวในดวงใจ
ควรมีลักษณะ เช่น
1.เป็นคนดี มีความสามารถ มีประวัติส่วนตัว และผลงานที่ผ่านมาดีเป็นที่ยอมรับ กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม
2.มีคุณธรรม และความเสียสละไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
3.มีความรู้ความสามารถ คือรู้ปัญหา รู้หน้าที่ และมีแนวคิด หรือข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้
4.มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย คือ มีเหตุผล ไม่ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ เคารพมติเสียงส่วนใหญ่ รับฟังความเห็นของเสียงส่วนน้อย
5.มีการหาเสียงหรือแนะนำตัวอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยง กฎ


กติกาการเลือกตั้ง
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลือกพรรคที่ชอบ พรรคเดียวที่เราวางใจ”
พรรคการเมืองที่ดี ควรมีลักษณะ เช่น
1.มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้ เป็นจริงได้
2.ระบบบริหารของพรรคยึดหลักการประชาธิปไตย
3.มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
4.ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
5.เป็นพรรคที่รวมคนทุกกลุ่มในสังคมเป็นสมาชิกไม่ใช่ยึดติดเพียงกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง


เกร็ดเลือกตั้ง ส.ส.


ใครเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง
•คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง กกต.มี 5 คน กกต.จว. ในแต่ละจังหวัดอีก จังหวัดละ 5 คน เป็นผู้ช่วยเหลือ
•แต่พนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งส่วนกลางและจังหวัด มีประมาณ 2,200 คน รวมทั้งมี กกต.เขต ทุกเขตเลือกตั้งๆละ 5 คน เป็นผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งตามกฎหมาย /อนุกรรมการระดับอำเภอ/กรรมการประจำหน่วย (กปน.)ฯลฯ อีกประมาณ 1,200,000 คน ช่วยเหลือในการจัดการเลือกตั้ง
•หน่วยเลือกตั้ง ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละ 800 คน จำนวนประมาณ 94,000 หน่วย
ในแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะมีผู้อำนวยการประจำหน่วย 1 คนและ กปน. จำนวน 9 คน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 2 คน รวมทั้งมีอาสาสมัครของ องค์กรเอกชน (ออช.) และตัวแทนพรรคการเมืองไม่เกินพรรคละ 1 คน เป็นสักขีพยาน
นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสนับสนุนการเลือกตั้ง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนด และการขอความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน


การนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.


เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 15.00 น. แล้ว จะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง โดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียวแล้ว กปน. จะประกาศผลการนับคะแนน ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งปิดประกาศไว้บริเวณที่เลือกตั้ง จากนั้นจะนำหีบบัตรพร้อมอุปกรณ์และเอกสารสำคัญส่งอำเภอ เพื่อรายงานผลให้ กกต.เขต
หลังจากนั้น กกต.เขต จะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขตเลือกตั้ง และประกาศผลรวมคะแนนของเขตเลือกตั้งและปิดประกาศไว้ในสถานที่ ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อ กกต.ประจำจังหวัด และรายงานต่อ กกต. เพื่อพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป


ข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง


•ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมการซื้อเสียง
•ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
•ห้ามหาเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อน วันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
•ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
•ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนียวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง
•ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
•ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
•ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด
•ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
•ห้ามเผยแพร่หรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผล การเลือกตั้ง(โพลล์) ในระหว่าง 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง (เวลา 15.00 น.)


การคัดค้านการเลือกตั้ง


ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งยื่นคัดค้านต่อ กกต. โดย
•ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผล การเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
•ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกินจำนวนที่ กกต. กำหนด หรือผู้สมัครไม่ยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายภายใน 90 วัน หลังเลือกตั้ง
ใบเหลือง ใบแดง คืออะไร?
เพื่อให้เข้าใจง่าย จึงขอเปรียบเทียบกับกีฬาฟุตบอล เมื่อกรรมการให้ “ใบเหลือง”นักฟุตบอล แปลว่านักฟุตบอลคนนั้นเล่นผิดกติกา
แต่ยังไม่ถึงกับไล่ออกจากสนาม ยังให้เล่นต่อไปได้
ถ้าให้ “ใบแดง” แปลว่า นักฟุตบอลคนนั้นทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง ต้องไล่ออก จากสนาม กฎหมายเลือกตั้งทุกประเภทก็กำหนดกติกาการเลือกตั้งไว้คล้ายๆ กับกติกากีฬาฟุตบอล ดังนี้
1.การให้ใบเหลือง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด หมายความว่า กกต. เห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่น การซื้อสิทธิ-ขายเสียง การแจกเงิน สิ่งของ เป็นต้น แต่เป็นการทุจริตที่แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครได้เป็นคนกระทำด้วยตนเอง แต่ก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตนั้น กกต. จึงลงโทษด้วยการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครที่ได้ใบเหลืองยังคงเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อไปได้
2.การให้ใบแดง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายความว่า กกต. เห็นว่ามีหลักฐาน อันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีการให้ใบเหลือง แต่ต่างกันตรงที่ว่าผู้สมัครเป็นผู้กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นการทุจริตนั้น จึงมีผลต้องถูก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี และหากผู้นั้นได้รับคะแนนเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ จะได้รับการเลือกตั้ง ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แทน โดยผู้ถูกเพิกถอนสิทธินั้น จะไม่มีสิทธิลงสมัคร ทั้งยังถูกดำเนินคดีอาญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่ด้วย


การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเหตุทุจริต


เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินสิ่งของ หรือการเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสหรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจ ในพื้นที่หรือแจ้งให้ กกต. ได้รับทราบในหลายช่องทาง เช่น
•สายด่วนเลือกตั้ง โทร. 1171
•ศูนย์ปฏิบัติการข่าว ฯ ในความรับผิดชอบศูนย์อำนวยการสืบสวนสอบสวน การเลือกตั้ง ส.ส. (ศอส.) โทร. 0-2141-8049-51
•สำนักงานคณะกรรมการการการเลือกตั้ง อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร.0-2141-8888
•หรือที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด
พันธะสัญญาของพรรคการเมืองว่าด้วยความร่วมมือในการเลือกตั้ง ส.ส. 2554
(หัวหน้าพรรคการเมือง ได้ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 )
ข้อ 1. มิบังควรนำสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงใน การเลือกตั้ง
ข้อ 2. จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ อันเกี่ยวกับ การเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด
ข้อ 3. จะไม่ใช้กลไกของรัฐ หรือทรัพยากรของรัฐ มาเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ 4. จะหาเสียงเลือกตั้งโดยสันติวิธี ไม่ข่มขู่ คุกคาม คู่แข่งขันด้วยวิธีการใดๆ และไม่ใช้วิธีการรุนแรงในการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ 5. จะยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ในการเลือกตั้งอย่างจริงใจ


ปฏิทินการเลือกตั้ง


รายละเอียดกิจกรรม


10 พ.ค. 54 – 2 มิ.ย. 54
ทั้งวัน ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด


ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด
ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 2 มิถุนายน 2554


19 พ.ค. 54 – 23 พ.ค. 54
ทั้งวัน การรับสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ


สถานที่ : สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง)
เวลา : 08.30 – 16.30 น.


24 พ.ค. 54 – 28 พ.ค. 54
ทั้งวัน การรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต


สถานที่ : ตามที่ ผอ.กต.เขต กำหนด (สอบถามรายละเอียดได้ที่ สนง.กกต.จว.)
เวลา : 08.30 – 16.30 น.


ขอบคุณ


http://www.innnews.co.th/เรื่องควรรู้-สำหรับการเลือกตั้ง–287367_32.html


0 comments:

Post a Comment

Blog Archive

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Grants For Single Moms