การไปเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง นอกจากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังเป็นการออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆแสวงหาความรู้ใหม่ๆมาประดับสมอง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “เที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน”ของทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่กำลังเดินหน้าผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยในทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้ออกไปท่องเที่ยวเรียนรู้ ตามรอยเส้นทาง“เครื่องปั้นดินเผา” และ “เครื่องสังคโลก” ในดินแดนเก่าแก่สำคัญของเมือง ที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.สุโขทัย | ||||
สำหรับเครื่องปั้นดินเผานั้น เริ่มต้นมาจากวิวัฒนาการในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่จะใช้สิ่งใกล้ตัวอย่างเช่น ดิน มาทำเป็นภาชนะต่างๆ ด้วยการปั้น แล้วนำมาเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้มีความคงทนแข็งแรงขึ้น สามารถคงรูปไว้ใช้ประโยชน์ได้นาน | ||||
ทั้งเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องสังคโลก ต่างก็มีความเป็นมาอย่างยาวนานบนแผ่นดินประเทศไทย โดยเฉพาะที่กำแพงเพชรและสุโขทัย ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังปรากฏหลักฐานต่างๆ ให้เห็นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นในเส้นทางการท่องเที่ยวในทริปนี้ | ||||
มีตำนานการสร้างพระพิมพ์ หรือที่ปัจจุบันนี้เรียกกันว่า พระเครื่อง ตั้งแต่ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ซึ่งในตอนที่ค้นพบหลักศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม ก็มีการพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก | ||||
การสาธิตการทำพระเครื่องของที่นี่จะได้เห็นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การกดพิมพ์ ตากแดด นำไปเผา นำพระมาใส่รา ใส่คราบ จนกระทั่งนำใบตองแห้งมาขัดพระ จนได้พระเครื่องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระเก่าหลายร้อยปี ซึ่งสมาชิกในแหล่งการเรียนรู้ฯ ก็จะให้ความรู้ในทุกขั้นตอนด้วยความเต็มอกเต็มใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส | ||||
และก่อนที่จะไปดูตามบ้านต่างๆ ก็แวะเวียนเข้าไปที่ กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง ไปดูประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณนานนับร้อยปีจากหลักฐานที่ยังสืบค้นได้ มีการกล่าวถึง “หม้อกรัน” ซึ่งเป็นหม้อน้ำรูปแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวง | ||||
คนที่ชอบตกแต่งบ้าน หรือชอบเครื่องปั้นดินเผา ถ้ามาถึงที่บ้านทุ่งหลวงก็ไม่ควรพลาดการเดินดูสินค้ารูปแบบต่างๆ ตามบ้าน เพราะจะมีทั้งเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ของประดับตกแต่งบ้านและสวน เป็นทั้งรูปสัตว์ ตัวการ์ตูน กระถางต้นไม้ ไปจนถึงของระลึกน่ารักๆ หลากหลายชิ้น มาเห็นแล้วคงอดที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านไม่ได้ | ||||
แม้ว่าจะไม่สามารถถ่ายภาพด้านในได้ แต่ก็ยังเดินชมเครื่องสังคโลกต่างๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน แล้วลองสังเกตความแตกต่างระหว่างเครื่องสังคโลกในยุคต่างๆ และเครื่องสังคโลกที่ผลิตจากแหล่งเตาแต่ละแห่งว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร หรือแม้กระทั่งเครื่องสังคโลกที่เสียหายจากการนำเข้าเตาเผา แล้วเกิดการบิดเบี้ยว แตกหัก ก็ยังคงความสวยงามที่แตกต่างจากเครื่องกระเบื้องในปัจจุบัน | ||||
เมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนแรกจะได้ศึกษาเรื่องของเมืองสวรรคโลก เริ่มต้นตั้งแต่พัฒนาการของเมืองสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งถึงในยุคปัจจุบัน โบราณวัตถุต่างๆ ของเมืองสวรรคโลกที่นำมาจัดแสดงก็มีทั้ง แท่งดินเผามีลายตาราง กระเบื้องเชิงชายรูปนางอัปสรและเทวดา เป็นต้น | ||||
เครื่องสังคโลกที่นำมาจัดแสดงก็จะมีทั้งที่ผลิตในเมืองสวรรคโลก ศรีสัชนาลัย ที่สุโขทัยเมืองเก่า และยังมีจากแหล่งเตาอื่นๆ นำมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง ซึ่งนอกจากจะมีเป็นเครื่องถ้วย เครื่องใช้ต่างๆ แล้ว ก็ยังมีเครื่องประดับตามสถาปัตยกรรมต่างๆ รวมถึงท่อน้ำดินเผา ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชลประทานในสมัยสุโขทัย | ||||
พูดถึงแหล่งผลิตของเครื่องสังคโลก หลายคนอาจจะรู้จักกับ “เตาทุเรียง” ว่าเป็นเตาสำหรับผลิตเครื่องสังคโลกในยุคกรุงสุโขทัย แต่อาจจะยังไม่เคยเห็นหน้าตา หรือไม่รู้ข้อมูลอื่นๆ ซึ่งก็มาศึกษาเพิ่มเติมกันได้ที่ ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก โดยที่นี่จะให้ความรู้ตั้งแต่การสร้างเตาทุเรียง กรรมวิธีการเผาเครื่องสังคโลก มีแบบจำลองเตาทุเรียงทั้ง 3 ยุค ไปจนถึงแหล่งเตาที่เรียงที่มีการขุดค้นพบในพื้นที่ | ||||
เรียนรู้เรื่องเครื่องสังคโลกและเตาทุเรียงแล้ว ก็เดินเข้าไปชมเตาทุเรียงที่มีการขุดค้นพบจริงที่ด้านในศูนย์ศึกษาฯ ที่ยังได้เห็นรูปร่างลักษณะของเตาทุเรียง และยังหลงเหลือร่องรอยของเครื่องสังคโลกที่ยังอยู่ภายในเตา เตาทุเรียงที่ค้นพบนี้อยู่ใต้ชั้นดินลงไปลึก เนื่องจากการทับถมของชั้นดินตามระยะเวลาที่ผ่านไป | ||||
มาเที่ยวกันในทริปนี้ นอกจากจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ก็ยังได้เห็นความสามารถของบรรพบุรุษของเราที่สร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องสังคโลกที่มีความสวยงาม และยังส่งต่อภูมิปัญญานี้มาให้ลูกหลานในปัจจุบัน ที่นำมาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่ออีกด้วย |
ขอบคุณ
ผู้จัดการออไลน์
0 comments:
Post a Comment